FM.103 มข. ตอบสนองความต้องการกลุ่มผู้ฟัง “ในยุคก้าวหน้าของเทคโนโลยี” พร้อมเป็นโครงข่ายสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ทดลองออกอากาศแบบดิจิทัล

       นายชุมพร พารา ผอ.กองสื่อสารองค์กร และในฐานะผู้อำนวยการสถานีวิทยุกระจายเสยง มหาวิทยาลัยขอนแก่น  และนางเบญจมาภรณ์ มามุข หัวหน้างานผลิตสื่อ พร้อมด้วยบุคลากรจากงานผลิตสื่อ กองสื่อสารองค์กร ร่วมให้การต้อนรับ นายเฉลิมชัย แก้วเฉลิม หัวหน้าแผนกโครงข่ายโทรทัศน์ สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก พร้อมทีมงาน หลังเดินทางมาเยี่ยมชมสถานีวิทยุกระจายเสียงมหาวิทยาลัยขอนแก่น คลื่นความถี่ FM 103 MHz. เพื่อขอความร่วมมือเป็นโครงข่ายทดลองออกอากาศแบบดิจิทัล ตามแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลอย่างมีประสิทธิภาพครอบคลุมทั่วประเทศ ของสำนักงาน กสทช. เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2564ที่ผ่านมา

        นายเฉลิมชัย แก้วเฉลิม หัวหน้าแผนกโครงข่ายโทรทัศน์ สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก เปิดเผยว่า จากการที่สถานีวิทยุ โทรทัศน์กองทัพบก ได้ร่วมกับ สำนักงาน กสทช. จัดทำโครงการจัดหาอุปกรณ์เพื่อทดลองออกอากาศวิทยุกระจายเสียงในระบบดิจิทัล DAB + ในส่วนภูมิภาค ระยะที่ 1ให้สอดคล้องตามแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลประสิทธิภาพสูง โดยมีโครงข่ายแพร่สัญญาณภาพและเสียงวิทยุระบบดิจิทัล ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ สามารถให้บริการได้ภายในระยะเวลา 3 ปี ซึ่งขณะนี้อยู่ในช่วงการประสานงานขอความร่วมมือกับสถานีวิทยุคลื่นหลักในส่วนภูมิภาคต่างๆ ให้มีสถานีรับส่ง หรือ 1 โครงข่าย 1 สถานี เพื่อติดตั้งอุปกรณ์เครื่องส่ง หรือส่วนที่เกี่ยวข้อง  ก่อนมีการทดลองจัดส่งรายการเพื่อทดลองออกอากาศ และเห็นว่าสถานีวิทยุกระจายเสียงมหาวิทยาลัยขอนแก่น คลื่นความถี่  FM 103 MHz. เป็นสถานีวิทยุที่มีศักยภาพและเป็นคลื่นหลัก มีรายการที่หลากหลาย มีกลุ่มผู้ฟังจำนวนมาก ประกอบกับมีการดำเนินงานภายใต้กรอบของ สำนักงาน กสทช.จึงเดินทางมาขอความร่วมมือเพื่อร่วมเป็นสถานีโครงข่ายทดลองออกอากาศในระบบดิจิทัล ตอบสนองการรับฟังและเกิดเกิดประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชาชน และประเทศชาติ

เฉลิมชัย แก้วเฉลิม หัวหน้าแผนกโครงข่ายโทรทัศน์ สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก

        ขณะที่ นายชุมพร พารา ผอ.กองสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยว่า พร้อมที่จะเดินหน้าร่วมมือกับสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก เพื่อทดลองอออากาศทั้งภาพและเสียงในระบบดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นการทดลองการใช้งานอุปกรณ์ระบบเครื่องส่งวิทยุกระจายเสียง และระบบเชื่อมโยงสัญญาณทั้งระบบ โดยมุ่งหวังว่าความรู้ที่ได้จากการทดลองในครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาการให้บริการวิทยุกระจายเสียงในระบบดิจิทัล และการใช้โครงข่าย เพื่อให้สามารถใช้งานคลื่นความถี่ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ตอบสนองความต้องการการใช้งานของประชาชนให้เกิดประโยชน์สูงสุด

https://th.kku.ac.th/75501/

 

About The Author