มข.ชวนชุมชนขจัดปัญหาขยะอินทรีย์ ให้ความรู้ทำปุ๋ยหมัก เพื่อชุมชนเคียงมอน่าอยู่

วันอังคารที่ 29 สิงหาคม 2566 ณ เวลา 9.00 – 10.30 น. มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดโครงการ มข.ส่งเสริมชุมชนเคียงมอน่าอยู่ โดยมี อาจารย์ณัฐสมล ธนกุลรังสฤษดิ์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจการพิเศษ เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วย นาย กมลพงษ์ ทองดีนอก รองผู้อำนวยการโรงเรียนเทศบาลสามเหลี่ยม นาย สมชาติ ชัยอยุทธ์ ประธานชุมชนสามเหลี่ยม ๓ ผศ.ดร.ธนภัทร์สกรณ์ สุกิจประภานนท์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาปฐพีศาสตร์และสิ่งแวดล้อม คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น นายชุมพร พารา ผู้อำนวยการกองสื่อสารองค์กร นักเรียน ประชาชนที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรม กว่า 100 คน ณ โรงเรียนเทศบาลบ้านสามเหลี่ยม ชุมชนสามเหลี่ยม

โครงการ มข.ส่งเสริมชุมชนเคียงมอน่าอยู่ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมหรือสร้างความเข้มแข็งแก่ชุมชนรอบมหาวิทยาลัยให้เกิดสังคมน่าอยู่ สร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างมหาวิทยาลัยกับชุมชน และ เป็นการสร้างความยั่งยืน ด้านการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนและสังคม ตามแผนยุทธศาสตร์การบริหารมหาวิทยาลัยขอนแก่น  พ.ศ. 2563 – 2566 ตามยุทธศาสตร์ที่ การปรับเปลี่ยนการบริการวิชาการ จากความรับผิดชอบต่อสังคม (Corporate Social Responsibility : CSR) สู่การสร้างคุณค่าร่วมกัน (Creating shared value : CSV)

อาจารย์ ณัฐสมล ธนกุลรังสฤษดิ์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจการพิเศษ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่นให้ความสำคัญกับชุมชนข้างเคียงมาโดยตลอด ซึ่งในโอกาสวาระพิเศษครบรอบ ๖๐ ปี แห่งการสถาปนามหาวิทยาลัยขอนแก่น จึงจัดโครงการ มข.ส่งเสริมชุมชนเคียงมอน่าอยู่ขึ้น เพื่อส่งเสริมและสร้างความเข้มแข็งแก่ชุมชนเคียงมอ และ ส่งเสริมการบริการวิชาการสู่สังคมที่ก่อให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ต่อชุมชน เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

“ชุมชนสามเหลี่ยม นับเป็นชุมชนต้นแบบแห่งแรก ที่ได้เข้ามาส่งเสริมการสร้าง ต้นแบบการแยกขยะ โดยมีโรงเรียนเทศบาลบ้านสามเหลี่ยม เป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชน และปลูกฝังเยาวชน ในจัดการขยะอินทรีย์ หรือขยะเปียกในครัวเรือน ด้วยวิธีการหมักปุ๋ย  เพื่อลดปริมาณขยะลง ให้สามารถต่อยอดการแยกขยะเปียกระดับชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และ พี่น้องประชาชนจะสามารถนำความรู้เหล่านี้นำไปปฏิบัติที่บ้าน ซึ่งโครงการดีๆเช่นนี้มหาวิทยาลัยจะพยายามทำอย่างต่อเนื่อง”

นาย สมชาติ ชัยอยุทธ์ ประธานชุมชนสามเหลี่ยม ๓ กล่าวถึงความต้องการของชุมชนและแนวทางการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า ชุมชนสามเหลี่ยม 3 ได้รับความร่วมมือจากโรงเรียน และมหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นอย่างดีมาโดยตลอด สำหรับปัญหาของชุมชนระยะหลัง เป็นปัญหาขยะมูลฝอยล้น ขณะเดียวกันรถจัดเก็บขนขยะทางเทศบาล ไม่สามารถมาเก็บตามกำหนดระยะเวลา สร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้านมาโดยตลอด แม้ว่าเทศบาลจะพยายามจัดซื้อรถขยะมาเพิ่มเติม แต่ก็ยังไม่สามารถจัดหามาได้เพียงพอ ทำให้ชุมชนต้องทบทวนถึงวิธีการกำจัดขยะตั้งแต่ระดับครัวเรือน

“เราได้แลกเปลี่ยนปัญหาของชุมชนให้มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้ทราบ หลังจากนั้นจึงได้รับความ ร่วมมือจากมหาวิทยาลัยมาทำโครงการครั้งนี้ เพื่อให้ชุมชนรู้จักวิธีแก้ไข ปัญหาขยะภายในครัวเรือนด้วยตนเอง ซึ่งจะสามารถสร้างความยั่งยืนในการกำจัดขยะให้กับชุมชนและนำไปสู่ปัญหาขยะที่ลดลงต่อไป”

ภายหลังพิธีเปิด อาจารย์ณัฐสมล ธนกุลรังสฤษดิ์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจการพิเศษ ได้มอบตะกร้าสำหรับการทำปุ๋ยหมักในครัวเรือนให้ตัวแทนชุมขนสามเหลี่ยมเขต 1  2 3 4  และ 5 ต่อจากนั้นเป็น พิธีส่งมอบวงตาข่ายปุ๋ยหมัก เพื่อให้โรงเรียนเป็นแหล่งเรียนรู้การทำปุ๋ยหมักจากเศษขยะใบไม้หรืออาหาร และ การอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การลดขยะจากเศษอาหารด้วยวิธีการหมักปุ๋ย โดย ผศ.ดร.ธนภัทร์สกรณ์ สุกิจประภานนท์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาปฐพีศาสตร์และสิ่งแวดล้อม คณะเกษตรศาสตร์

ผศ.ดร.ธนภัทร์สกรณ์ สุกิจประภานนท์ เปิดเผยว่า โดยทั่วไปขยะครัวเรือนจะมีหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นเศษพลาสติก โลหะ รวมไปถึงกลุ่มขยะอินทรีย์ ที่สามารถนำมาแปรรูปเป็นปุ๋ยหมัก  ใช้สำหรับปลูกผัก ใส่ต้นไม้ และ ยังเป็นการช่วยจัดการปัญหาตั้งแต่ต้นทาง  ลดต้นทุนด้านแรงงานไปด้วย

“ปกติเวลาเราทิ้งขยะ เทศบาลในแต่ละชุมชนจะมาจัดเก็บไป ต่อจากนั้นต้องมีการแยกขยะ การจัดการตรงจุดนี้จะมีต้นทุน แต่ถ้าประชาชนแต่ละครัวเรือนมีการคัดแยกขยะเปียก เศษอินทรีย์ หากมองในภาพกว้าง เราจะสามารถลดต้นทุนและแรงงานในกระบวนการนี้ได้อย่างมาก ในการทำปุ๋ยอินทรีย์ ถ้าเป็นการใช้เองในระดับครัวเรือน จะไม่มีสูตรตายตัว ขั้นตอนจะเริ่มที่ นำเศษอินทรีย์ ใบไม้ หรือ เศษอาหารต่างๆ มาเทในที่ๆจัดเตรียมไว้ ต่อจากนั้นจะใส่ปุ๋ยคอก หรือ มูลสัตว์เพื่อให้เกิดการย่อยสลาย แต่บางครั้งมูลสัตว์เลี้ยงอาจจะใช้ไม่ได้เพราะว่ามีปัญหาเรื่องกลิ่น และเติมน้ำเข้าไปเพื่อให้มีความชื้น”

“สำหรับระยะในการย่อยสลาย ใบไม้แห้งจะใช้ระยะเวลาประมาณ 2 เดือน เศษผักผลไม้สด ใช้เวลาเพียง 1-2 สัปดาห์ แต่ถ้าเป็นกิ่งไม้จะต้องสับให้ชิ้นเล็กก่อน และ หมักทิ้งระยะเวลาไว้ประมาณ 2-3 สัปดาห์ ก็สามารถนำส่วนที่ย่อยสลายมาใช้เป็นปุ๋ยได้ จากการศึกษาวิจัยด้านการจัดการอินทรีย์วัตถุหลายชนิด พบว่า การทำปุ๋ยหมักที่มีการใส่ใบไม้แห้ง จะช่วยส่งผลให้สมบัติทางเคมี ฟิสิกส์ ของดิน มีความร่วนซุย อุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูก ดินทรายก็สามารถ ดูดซับปุ๋ยได้มากขึ้น”

ข่าว : รวิพร สายแสนทอง ภาพ : บริพัตร ทาสี