เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2561 ณ ห้องสิริคุณากร 3 อาคารสิริคุณากร มหาวิทยาลัยขอนแก่น ศูนย์ประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดงานสัมมนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้นำเสนอผลงานขึ้น เพื่อประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ผลงานของศูนย์ประสานงานโครงการฯ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ นำเสนอประสบการณ์ในงานพัฒนาตามแนวพระราชดำริ ผ่านคำบอกเล่าของตัวแทนกลุ่มองค์กรชาวบ้าน อันจะทำให้เกิดกลไกขยายผล โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. เพ็ญประภา เพชระบูรณิน ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวรายงานความเป็นมาของโครงการต่อ ศาสตราจารย์ ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและการถ่ายทอดเทคโนโลยี ประธานในพิธีเปิด มีผู้เข้าร่วมการสัมมนา 80 คน ประกอบด้วย ตัวแทนเกษตรกรและกลุ่มอาชีพ ผู้บริหารโรงเรียน ผู้นำชุมชน กรรมการชุมชน ตัวแทนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อาจารย์ นักวิจัย และนักวิชาการจากคณะหน่วยงานภายในมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยในส่วนโครงการพัฒนาชุมชนต้นแบบตามแนวพระราชดำริ ได้ดำเนินงานในพื้นที่ตำบลยางคำ อำเภอหนองเรือ ตำบลน้ำอ้อม อำเภอกระนวน ตำบลแวงน้อย อำเภอแวงน้อย และโรงเรียนในพระราชดำริ อำเภอหนองสองห้อง จังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นพื้นที่อยู่ในรัศมีประมาณ 100-200 กิโลเมตรจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น
นางเบญจมาภรณ์ มามุข นักประชาสัมพันธ์ กองสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ดำเนินรายการเสวนา แลกเปลี่ยนเรียนรู้ “กว่าจะมาเป็นยางคำฐานเรียนรู้สู่ความพอเพียง” โดยมี นายธนเทพ อุณารัตน์ นายนิพนธ์ แหล่ป้อง นายสุพรรณ นามโคตร นายสมาน ยันศรี “เครือข่ายการพัฒนาตำบลน้ำอ้อม” โดย นายเขตชาติ เหล่าลาภะ ประธานวิสาหกิจชุมชนตำบลน้ำอ้อม “การบูรณาการความเป็นท้องถิ่นเพื่อการเรียนการสอน” โดย โรงเรียนในพระราชดำริ ผอ.พิชิต เถรหมื่นไวย โรงเรียนโนนสะอาดห้วยตะกั่ววิทยา อ.หนองสองห้อง และ ผอ.วิชัย มหาโพธิ์ โรงเรียนบ้านดอนแขม ต.ยางคำ อ.หนองเรือ “การสนองพระราชดำริในงานฐานทรัพยากรท้องถิ่น” โดย นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านกง นายโยธิน ศรีหนองเม็ก ร่วมเสวนา
เวทีสัมมนาดังกล่าว เป็นกิจกรรมที่อยู่ในงานสัมมนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ซึ่งผู้เข้าร่วมเสวนาได้นำผลงานเสนอบนเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนการสนองพระราชดำริ เป็นผลงานมีการประสานความร่วมมือกับคณะ/หน่วยงานต่าง ๆ ภายในมหาวิทยาลัยขอนแก่น หน่วยงานเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน น้อมนำศาสตร์พระราชามาเชื่อมโยงกับการถ่ายทอดเทคโนโลยี และบริการวิชาการด้านต่าง ๆ ทั้งนี้มีเป้าหมายที่จะพัฒนาชุมชนท้องถิ่นให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แม้ว่าโครงการจะเป็นเชิงพัฒนาแต่ในการดำเนินงานได้ประยุกต์ใช้หลักการของการวิจัยเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ เป็นแหล่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณอย่างต่อเนื่องจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น”
การจัดสัมมนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เป็นเวทีที่นักประชาสัมพันธ์ กองสื่อสารองค์กร ได้นำความรู้ความสามารถเฉพาะตำแหน่งไปใช้ในการดำเนินรายการ เพื่อดึงองค์ความรู้ของตัวแทนกลุ่มองค์กรชาวบ้านนำเสนอผลงานผ่านคำบอกเล่าในครั้งนี้ นับเป็นความสำเร็จผลงานของศูนย์ประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น นอกจากนั้นยังเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันในเรื่องของเป้าหมายการดำเนินงาน ความสำเร็จ และประโยชน์ที่ได้รับจากการดำเนินงาน พร้อมทั้งเกิดแนวทางการทำงานและแนวทางการขยายการดำเนินงานอย่างมีส่วนร่วมและเกิดกลไกขยายผลสู่ชุมชนในวงกว้าง
ข่าว : วัชรา น้อยชมภู
ภาพ : วัชรา น้อยชมภู / วริษฏา หงส์กาญจนกุล