เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2561 มหาวิทยาลัยขอนแก่น นำโดย นายบัญชา พระพล ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายศิลปวัฒนธรรมและชุมชนสัมพันธ์ พร้อมทั้งผู้แทนคณะหน่วยงานภายในมหาวิทยาลัย เข้าร่วมพิธีถวายราชสักการะ เนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี 21 ตุลาคม โดยภายในพิธีได้รับเกียรติจาก ดร.สมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เป็นประธานในพิธี พร้อมทั้งหัวหน้าส่วนราชการ หน่วยงานรัฐ เอกชน เข้าร่วมพิธี ณ พระบรมราชานุสาวรีย์ โรงพยาบาลศรีนครินทร์
ด้วยวันที่ 21 ตุลาคมของทุกปี เป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ซึ่งรัฐบาลกำหนดให้เป็นวันพยาบาลแห่งชาติ วันทันตสาธารณสุขแห่งชาติ วันสังคมสงเคราะห์แห่งชาติ และวันอาสาสมัครไทย เพื่อเป็นการสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทย จึงได้มีการจัดพิธีถวายราชสักการะ วางพานพุ่ม และกิจกรรมเทิดพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงพระราชสมภพ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 21 ตุลาคม ปีชวด พุทธศักราช 2443 ในพระชนก “ชู” และพระชนนี “คำ” ทรงอภิเษกสมรสกับพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ทรงมีพระโอรสและพระธิดา 3 พระองค์คือ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9

เมื่อทรงพระเยาว์ ทรงได้รับการศึกษา ณ โรงเรียนสตรีวิทยาหลังจากนั้นทรงเข้าศึกษาต่อ ณ โรงเรียนแพทย์ผดุงครรภ์และหญิงพยาบาลแห่งศิริราชพยาบาล เมื่อสำเร็จการศึกษาทรงเข้าปฏิบัติงาน ณ โรงพยาบาลศิริราช และทรงได้รับทุนให้ไปศึกษาต่อในหลักสูตรเตรียมพยาบาลและหลักสูตรสาธารณสุข ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงประกอบพระราชกรณียกิจเป็นคุณประโยชน์ ต่อประเทศชาติ และพสกนิกรเป็นอเนกประการ ทรงอภิบาลพระโอรสสองพระองค์ ซึ่งต่อมา ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ ที่เปี่ยมด้วยคุณธรรมอันประเสริฐ เป็นที่เคารพรักเทิดทูลของปวงพสกนิกร ส่วนพระธิดาก็ทรงดำเนินรอยตามสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ในการบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ต่างๆ ต่อประเทศชาติ ด้วยพระเกียรติคุณและพระมหากรุณาธิคุณ ที่ทรงประกอบพระราชกรณียกิจ ด้านสาธารณสุข การศึกษา การสังคมสงเคราะห์ และพัฒนาให้เจริญก้าวหน้ามาจวบจนทุกวันนี้ พสกนิกรทุกหมู่เหล่า จึงพร้อมใจถวายพระสมัญญาภิไธย ให้ทรงเป็น “พระมารดาแห่งวิชาชีพพยาบาลไทย” และ “พระมารดาแห่งการสังคมสงเคราะห์” และนอกจากนี้ องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNESCO ได้ถวายพระเกียรติให้ทรงเป็น “บุคคลสำคัญของโลก” ที่มีผลงานดีเด่น เพื่อส่วนรวมในด้านการศึกษาวิทยาศาสตร์ประยุกต์การพัฒนามนุษย์สังคมและสิ่งแวดล้อม




Post Views: 136