มข. ระลึกถึงวีรบุรุษผู้กล้า ในวันทหารผ่านศึก ปี2562

วันนี้ (3 กุมภาพันธ์ 2562) เวลา 7.00 น. รองศาสตราจารย์ ดร.เกรียงไกร กิจเจริญ รองอธิการบดีฝ่ายศิลปวัฒนธรรมและชุมชนสัมพันธ์ และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศิริพงษ์ เพียศิริ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายสื่อสารองค์กร พร้อมด้วยบุคลากร และนักศึกษาวิชาทหารมหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมวางพวงมาลาเพื่อเป็นการสดุดีวีรกรรมและเชิดชูเกียรติทหารผ่านศึกผู้เสียสละเลือดเนื้อและชีวิตปกป้องอธิปไตยของชาติ โดยมี พลตรี สมชาย ครรภาฉาย ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 23 เป็นประธานในพิธี และ ดร.สมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นให้เกียรติเข้าร่วมพิธี ณ อนุสาวรีย์แห่งความเสียสละ หน้ากองบังคับการกองพันทหารม้าที่ 6 ค่ายศรีพัชรินทร จังหวัดขอนแก่น

          วันทหารผ่านศึก (The Thai Veterans Day)  ตรงกับวันที่ 3 กุมภาพันธ์ ของทุกปี  เนื่องจากหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือหลัง สงครามมหาเอเซียบูรพา สิ้นสุดลง มีทหารไทยจำนวนมากที่ถูกปลดประจำการ จึงได้มีเสียงเรียกร้องขอให้ทางการพิจารณาให้ความช่วยเหลือแก่ทหารเหล่านั้น

          ดังนั้น ในปี พ.ศ.2490 กระทรวงกลาโหมอันเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบในด้านนี้โดยตรง จึงได้จัดตั้งหน่วยงานขึ้นเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ทหารที่ กลับจากปฏิบัติการรบ และช่วยเหลือครอบครัวทหารที่เสียชีวิตในการรบ  ต่อมากระทรวงกลาโหมได้เสนอพระราชบัญญัติจัดตั้ง องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก ขึ้น โดยได้ผ่านการเห็นชอบจากรัฐบาล และได้มีการประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2491 จึงได้ยึดเอาวันที่ 3 กุมภาพันธ์ของทุกปี เป็นวันทหารผ่านศึก

          ในปี พ.ศ.2510 องค์การทหารผ่านศึกได้ปรับเปลี่ยนฐานะมาเป็นองค์การเพื่อการกุศลของรัฐ และเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย โดยได้รับเงินอุดหนุนจากกระทรวงกลาโหมและเงินที่รัฐบาลกำหนดให้เป็นครั้งคราว

         ภารกิจหลักขององค์การทหารผ่านศึกได้แก่ การให้การสงเคราะห์แก่ทหารที่ผ่านการปฎิบัติการรบ และครอบครัวของทหารที่ปฏิบัติการรบ ซึ่งแบ่งออกเป็น 6 ประเภท คือ

         1. การสงเคราะห์ทางด้านสวัสดิการ เป็นการให้การสงเคราะห์เกี่ยวกับเรื่องทั่วๆ ไป ที่อยู่อาศัย การศึกษา ตลอดจนให้ความช่วยเหลือด้านอวัยวะเทียม

         2. การสงเคราะห์ทางด้านอาชีพ โดยการฝึกอบรมและการฝึกอาชีพ ให้ความช่วยเหลือในทางด้านการทำงาน จัดหางานให้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

         3. การสงเคราะห์ด้านนิคมเกษตรกรรม จัดสรรที่ทำกินในด้านเกษตรกรรมให้ และให้ความช่วยเหลือทางด้านเครื่องมือและวิชาการ

         4. การสงเคาระห์ด้านกองทุน โดยการจัดหาเงินทุนให้สมาชิกขององค์การทหารผ่านศึกได้กู้ยืมไปประกอบอาชีพ

         5. การสงเคราะห์ด้านการรักษาพยาบาลให้แก่สมาชิก โดยไม่คิดมูลค่า

         6. ให้มีการส่งเสริมสิทธิของทหารผ่านศึก โดยการขอสิทธิพิเศษในด้านต่างๆ ให้แก่ทหารผ่านศึก เช่น การขอลดค่าโดยสาร เป็นต้น

           ดอกป๊อปปี้ สีแดง นั้น เป็นสัญลักษณ์แทน ทหารผ่านศึก ผู้พิทักษ์รักษาประเทศชาติให้มีเอกราชอธิปไตย สีแดงของดอกป๊อปปี้ คือ เลือดของทหารหาญที่ได้หลั่งชโลมแผ่นดินไว้ด้วยความกล้าหาญ เสียสละอันสูงสุด

           การจัดทำดอกป๊อปปี้เพื่อจำหน่ายในวันทหารผ่านศึกเกิดจากดำริของ ท่านผู้หญิง จงกล กิตติขจร ประธานสโมสรสงเคราะห์ครอบครัวทหารผ่านศึก หรือ มูลนิธิสงเคราะห์ครอบครัวทหารผ่านศึกในปัจจุบัน ที่ต้องการจะดำเนินการหาทุนมาช่วยเหลือทหาร และครอบครัวทหารผ่านศึก ที่กำลังปฏิบัติหน้าที่ในการป้องกันประเทศจึงได้เลือกเอาดอกป๊อปปี้สีแดง ซึ่งมีประวัติเกี่ยวโยงถึง สมรภูมิฟลานเดอร์ส สมรภูมิเบลเยี่ยม และ เนเธอร์แลนด์ระหว่างสัมพันธมิตร และเยอรมัน ใน สงครามโลกครั้งที่ 1  โดยสงครามในครั้งนั้นทหารพันธมิตรได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากสมรภูมินี้มากที่สุด จอมพลเอิร์ล ออฟ เฮก ผู้บัญชาการรบที่นั่นได้เห็นปรากฎการณ์ธรรมชาติที่น่าพิศวงและน่าพิศมัยเกิดขึ้น ณ สมรภูมิดังกล่าว ในบริเวณหลุมฝังศพทหาร โดยมีดอกป๊อปปี้ป่าขึ้นอยู่เดียรดาษทั่วไป ทำให้เกิดเป็นลานสีแดงฉานสวยงาม ตั้งแต่นั้นมา ดอกป๊อปปี้จึงกลายเป็นดอกไม้อนุสรณ์แห่งวีรกรรมของทหารผ่านศึก เตือนใจให้ระลึกถึงเลือดสีแดงของทหารที่ได้เสียสละเพื่อประเทศชาติ

          ฉะนั้น เพื่อระลึกถึงเกียรติภูมิของนักรบกล้าหาญ จึงได้กำหนดให้ดอกป๊อปปี้เป็นดอกไม้ที่ระลึกสำหรับทหารผ่านศึกไทยเช่นเดียวกับในต่างประเทศ และมีการจำหน่ายในวันที่ระลึกทหารผ่านศึก ตั้งแต่ปี 2511 เป็นต้นมา           นับเป็นโอกาสอันดีที่ผู้คนทั้งหลายจะได้แสดงความระลึกถึง และช่วยเหลือทหารผ่านศึกและครอบครัว ด้วยการซื้อดอกป๊อปปี้ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของทหารผ่านศึก ผู้กล้าหาญ และเสียสละ ตลอดจนเป็นการรำลึกถึงคุณงามความดีและวีรกรรมของเหล่าทหารหาญที่ทำให้เราอยู่กันอย่างสงบสุขบนผืนแผ่นดินไทย และมีอธิปไตยมีชาติ บ้านเมือง ให้ได้อยู่อาศัย ตราบชั่วลูกชั่วหลานจวบจนปัจจุบัน

Scroll to Top