สำเร็จอีกขั้น! มข.วิจัยแผ่นรังไหมรับแรงใช้ทางทหาร กระสุนปืน M16 เจาะไม่เข้า

มหาวิทยาลัยขอนแก่น วิจัยแผ่นรังไหมรับแรงกระสุนปืน จากเดิมที่สามารถป้องกันกระสุนปืนสั้นได้ พัฒนาต่อยอดสู่แผ่นรังไหมรับแรงกระสุนปืนขนาด 5.56 มม. กระสุนปืน M16 อาวุธที่ใช้ทางทหารได้สำเร็จ

วันนี้ จันทร์ ที่ 31 สิงหาคม 2563 เวลา 10.30 – 12.00 น. มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดพิธีแถลงข่าว มข.พบสื่อมวลชน เรื่อง “งานวิจัยแผ่นรังไหมรับแรงกระสุนปืนเอ็ม 16”  โดย ผศ.พนมกร ขวาของ และ อ.สุธา ลอยเดือนฉาย ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยได้รับเกียรติจาก รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดี มข. เป็นประธานกล่าวเปิดงาน พร้อมด้วย ศ.พญ.ผิวพรรณ มาลีวงษ์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษา อาจารย์ณัฐสมล ธนกุลรังสฤษดิ์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจการพิเศษ คุณชุมพร พารา ผอ.กองสื่อสารองค์กร ให้เกียรติร่วมงานแถลงข่าวในครั้งนี้ และได้รับเกียรติจากพี่ ๆ สื่อมวลชน จังหวัดขอนแก่น ทุกแขนง ให้ความสนใจ ร่วมงานแถลงข่าวครั้งนี้อย่างคับคั่ง ณ ห้องรับรองพิเศษ ศาลาช่อกาลพฤกษ์ สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น

โดย ผศ.ดร.พนมกร ขวาของ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ และ อ. สุธา ลอยเดือนฉาย ร่วมกันวิจัยแผ่นรังไหมรับแรงกระสุนปืน จากเดิมที่สามารถป้องกันกระสุนปืนสั้นได้ทุกชนิด พัฒนาต่อยอดสู่แผ่นรังไหมรับแรงกระสุนปืนขนาด 5.56 มิลลิเมตร กระสุนปืน M16 อาวุธที่ใช้ทางทหารได้สำเร็จ เพื่อรองรับการปฏิบัติงานขั้นกว่าสำหรับกลุ่มอาวุธสงคราม โดยมี 2 รุ่น ได้แก่ รุ่นน้ำหนักประมาณ 2 กิโลกรัม และรุ่นน้ำหนักประมาณ 1.6 กิโลกรัม ซึ่งเบากว่าแผ่นเหล็กหนาขนาด 9 มิลลิเมตร ที่ใช้ในเสื้อเกราะกันกระสุนทั่วไปในปัจจุบัน 2-3 เท่า

นอกจากน้ำหนักเบา อีกคุณสมบัติเด่นของแผ่นรังไหมรับแรง คือ การหยุดจับกระสุนไม่ให้เกิดการแฉลบ เนื่องจากพบว่าการใช้แผ่นโลหะทำให้กระสุนเกิดการแฉลบซึ่งอาจไปโดนอวัยวะอื่น หรือผู้อื่นที่อยู่ข้างเคียงได้ และหากเปรียบเทียบคุณสมบัติที่ดีกว่าเกราะอ่อนกันกระสุนที่ทำจากเคฟลาร์ พบว่าแผ่นรังไหมรับแรงมีราคาถูกกว่า และยังสามารถป้องกันอาวุธมีคม อาทิ มีด ซึ่งไม่สามารถแทงทะลุแผ่นรังไหมได้ แต่สามารถแทงทะลุเกราะอ่อนได้

ผศ.ดร.พนมกร ขวาของ เผยว่า กระบวนการผลิตแผ่นรังไหมรับแรงกระสุนปืนขนาด 5.56 มม. จะมีกระบวนผลิตแตกต่างจากแผ่นรังไหมรับแรงกระสุนปืนสั้น โดยยังใช้รังไหมที่มีความยืดหยุ่น น้ำหนักเบา ต้านทานแรงกระแทกได้ดี แต่เพิ่มวัสดุที่สามารถรับและกระจายแรงเข้าไป พร้อมทั้งพัฒนาปรับปรุงน้ำยาชนิดพิเศษเพื่อให้วัสดุต่าง ๆ ยึดเกาะกันมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้ได้แผ่นรังไหมที่สามารถรับแรงกระสุนปืนขนาด 5.56 มม. หรือกระสุนปืน M16 ได้ ซึ่งแตกต่างจากแผ่นรังไหมเดิมที่รับได้เฉพาะแรงกระสุนปืนสั้นเท่านั้น แม้ว่าจะนำมาซ้อนกันถึง 4 แผ่น แต่กระสุนปืนขนาด 5.56 มม. ก็สามารถทะลุได้ ต่างจากแผ่นรังไหมรับแรงที่เพิ่งคิดค้นสำเร็จนี้ โดยได้จดสิทธิบัตรเป็นทรัพย์สินทางปัญญาแล้ว

ตอนนี้แผ่นรังไหมรับแรงมี 2 แบบ คือ แผ่นรังไหมรับแรงกระสุนปืนสั้น ซึ่งมี 3 รุ่น ได้แก่ รุ่นน้ำหนัก 0.9 0.75 และ 0.55 กิโลกรัม และแผ่นรังไหมรับแรงกระสุนปืนขนาด 5.56 มิลลิเมตร ซึ่งมี 2 รุ่น ได้แก่ รุ่นน้ำหนัก 2 และ 1.6 กิโลกรัม เพื่อให้สามารถเลือกใช้ได้ตามความเหมาะสมกับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ อาทิ ทหาร ตำรวจ ตำรวจตระเวนชายเดน หรือเจ้าหน้าที่ในพื้นที่เสี่ยงชายแดนภาคใต้ สำหรับเจ้าหน้าที่ที่สนใจ สามารถติดต่อได้ที่ 089-8406586 ผศ.ดร. พนมกร ขวาของ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น หรือ อ. สุธา ลอยเดือนฉาย


Scroll to Top