โลกของการสื่อสารที่ก้าวไปอย่างรวดเร็วเกิดภาวะ Media Disruption ส่งผลกระทบต่อสื่อหลักที่เคยเป็นธงนำในการโน้มน้าวกระแสทางสังคมได้อย่างโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง ให้กลายเป็นสื่อทางเลือกและมีแนวโน้มที่จะกลายเป็นสื่อที่หมดความหมายแบบที่เรียกว่า Old media ในที่สุด ในระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมาเราได้เห็นความพยายามในการดิ้นรนปรับตัวเพื่อพลิกโอกาสของสื่อเก่าให้กลับมามีที่ยืนบนเวทีของโลกสื่อสารยุคดิจิทัล ด้วยการทบทวนการบริหารจัดการเนื้อหา เติมเต็มเทคโนโลยีใหม่ของOnline media เข้าไป เพื่อให้ผู้รับสื่อเกิดทางเลือกที่หลากหลายสามารถเข้าถึงได้ทุกที่ทุกเวลา แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งและความท้าทายคือการบอกถึงการมีตัวตนของตนเองที่สามารถตอบสนองความต้องการรับรู้ของสังคมและองค์กรเจ้าของสื่อได้อย่างเด่นชัดแต่นั่นก็ถือว่าเป็นโจทย์ยากข้อหนึ่ง
สถานีวิทยุกระจายเสียงเป็น1ในสื่อมวลชนที่ถูกเรียก Old media ซึ่งเข้าไปอยู่ในวังวนของสภาวการณ์ Media Disruption เช่นกัน สื่อวิทยุกระจายเสียงเคยถูกจัดว่าเป็นสื่อของมหาชนคนรากหญ้ามาเป็นเวลานาน มีความโดดเด่นในแง่ความบันเทิงราคาถูกที่มีความหลากหลาย เต็มไปด้วยเสน่ห์ของความใกล้ชิดระหว่างผู้ส่งสารและรับสารแบบคนคุ้นเคย ขณะที่กิจการวิทยุหลักที่ถูกถือครองโดยองค์กรของรัฐได้ถูกนำใช้ประโยชน์เพื่อการสื่อสารทั้งการให้ความรู้และส่งต่อนโยบายสร้างความเข้าใจสู่ประชาชนในขณะเดียวกันก็ยังเป็นแหล่งรายได้หนึ่งด้วย ในระยะหลังยังรวมถึงการเกิดใหม่ของคลื่นวิทยุชุมชนที่เป็นทางเลือกของคนในพื้นที่ในการรับรู้ข่าวสารระดับท้องถิ่นของตนเองที่ถูกกำกับดูแลอย่างใกล้ชิดโดยหน่วยงานที่รับผิดชอบในการบริหารจัดการคลื่นความถี่และควบคุมดูแลเนื้อหาให้กับสื่อวิทยุชุมชนที่ผุดขึ้นมานับพันในขณะนี้ การเดินทางมาถึงจุดเปลี่ยนเกิดขึ้นเร็วกว่าที่คาดไว้เมื่อสื่อวิทยุต้องฝ่าวิกฤตการแข่งขันกันเองในการนำเสนอเนื้อหาข้อมูลเพื่อเหนี่ยวรั้งผู้ฟังซึ่งรวมไปถึงผู้สนับสนุนด้านทุนใว้ให้ได้นั่นหมายถึงการลงทุนที่เพิ่มมากขึ้น ซ้ำเติมด้วยการเจอกับการเปลี่ยนแปลงค่านิยมในการบริโภคสื่อของโลกดิจิทัลอย่างที่เห็นในปัจจุบัน พบเห็นการล้มลงของกิจการวิทยุและผู้ประกอบการจำนวนมากอย่างน่าเสียดาย
สถานีวิทยุกระจายเสียงในมหาวิทยาลัย ถูกกำกับตามประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) ให้เป็นผู้ประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงกิจประเภทการบริการสาธารณะ ตามประกาศ หลักเกณฑ์การอนุญาตทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง พ.ศ.2555 หมวด 1โดยระบุไว้อย่างชัดเจนว่าต้อง ใช้ประโยชน์ด้านการเรียนการสอนหรือการเผยแพร่ความรู้สู่สังคม โดยมีสัดส่วนของเนื้อหา ที่แสดงให้เห็นได้ในผังรายการ รวมประเภท 9 ประเภทคือ 1.รายการข่าวสาร 2.รายการส่งเสริมประชาธิปไตย 3.รายการส่งเสริมการศึกษาวัฒนธรรม 4.รายการให้ความรู้เศรษฐกิจสังคม 5.รายการเด็กและเยาวชน 6.รายการท้องถิ่น 7.รายการวิทยาศาสตร์และสุขภาพ 8.รายการกีฬา 9.รายการข่าวสารและบันเทิง โดยรวมแล้วมีเนื้อหาหลักที่เป็นความรู้ร้อยละ70 และความบันเทิงร้อยละ30
สถานีวิทยุมหาวิทยาลัยขอนแก่นบนคลื่นความถี่วิทยุ เอฟเอ็ม 103 เมกะเฮริ์ทซ ที่อยู่คู่กับมหาวิทยาลัยมาถึง47ปีเราได้เปลี่ยนผ่านแนวคิดการบริหารจัดการมาสู่การเป็นสถานีวิทยุเพื่อบริการความรู้ให้กับประชาชนโดยไม่มีการหารายได้มาก่อนหน้าที่กฎหมายกำหนดแล้ว ภายใต้แนวนโยบายมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่มองไปข้างหน้าอย่างมีวิสัยทัศน์จากผู้บริหารในยุคนั้น ที่เห็นถึงศักยภาพของสื่อวิทยุต่อการขับเคลื่อนพันธกิจของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ด้วยการดึงความร่วมมือจากทุกคณะหน่วยงานทั้งในและนอกมหาวิทยาลัยมาเพื่อร่วมกันสร้างสรรค์รายการคุณภาพขับเคลื่อนองค์ความรู้ไปสู่ประชาชน ภายใต้คำขวัญ “สถานีความรู้ ข่าวสาร บริการสาธารณะ” เป็นเสมือนการประกาศเจตนารมณ์การเป็นสถานีวิทยุสถาบันการศึกษาที่ชัดเจนและแน่วแน่ บริหารงานโดยบุคลากรของมหาวิทยาลัยโดยมีคณะกรรมการบริหารที่มาจากผู้เชี่ยวชาญด้านต่างทั้งภายในและภายนอกสถาบัน โดยเป็นหน่วยงานในกำกับสังกัดสำนักงานอธิการบดี จนปัจจุบันมาสังกัดกองสื่อสารองค์กร สำนักงานอธิการบดี ทำหน้าที่เป็นสื่อเพื่อการประชาสัมพันธ์ให้กับ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ไปพร้อมกับการมีฐานะเป็นสื่อมวลชนด้านการศึกษาที่มีคุณภาพอยู่ภายใต้การกำกับดูแลจากภาครัฐคือ กสทช. ที่มีบทบาทหน้าที่ในการบริหารความถี่วิทยุเพื่อกิจการโทรคมนาคม และกำกับดูแลการประกอบกิจการโทรคมนาคม ในการดำเนินกิจการให้เป็นไปตามข้อกฎหมายมีมาตรฐานในการปฏิบัติงานตามข้อกำหนดทั้งในด้านเทคนิคการกระจายเสียงและสัดส่วนเนื้อหารายการเช่นเดียวกับวิทยุกระจายเสียงแห่งอื่นๆที่อยู่ในประเภทเดียวกัน
นายชุมพร พารา ผู้อำนวยการกองสื่อสารองค์กร สำนักงานอธิการบดีได้เผยถึงการดึงเอาศักยภาพของสื่อวิทยุกระจายเสียงมาเพื่อขับเคลื่อนภารกิจด้านการสื่อสารองค์กรไว้ว่า ”สถานีวิทยุกระจายเสียมหาวิทยาลัยขอนแก่น FM 103 Mhz. เป็นหน่วยงานในสังกัดกองสื่อสารองค์กร สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่มีบทบาทในการเป็นสื่อกลางในการสื่อสารข้อมูลข่าวสาร และนำเอาองค์ความรู้จากมหาวิทยาลัยขอนแก่นไปสู่ประชาชน ในขณะเดียวกันก็เป็นช่องทางในการรับฟังข้อคิดเห็นจากภาคประชาชนรวมถึงการร่วมนำเอาองค์ความรู้จากประชาชนทั้งปราชญ์ชาวบ้าน ผู้นำชุมชน องค์กรรัฐและเอกชนต่างๆในรูปแบบการร่วมจัดรายการเผยแพร่ผ่านช่องทางของเรากลับไปสู่สาธารณะ ปัจจุบันพฤติกรรมการรับสารเปลี่ยนไป โดยมีจำนวนผู้ฟังผ่านระบบกระจายเสียงที่น้อยลงแต่การรับฟังวิทยุยังคงมีอยู่และยังเข้าถึงผู้ฟัง เพียงแต่เปลี่ยนรูปแบบของอุปกรณ์ในการรับฟัง ซึ่งผู้ฟังส่วนใหญ่หันมารับฟังจากช่องทางออนไลน์มากขึ้น ทั้งวิทยุออนไลน์ผ่านเว็บไซต์, แอปพลิเคชัน, Podcast, Facebook, Youtube ซึ่งผู้ติดตามและรับฟังผ่านช่องทางดังกล่าวเป็นจำนวนมาก
สำหรับในแง่ของการใช้ประโยชน์ในกิจการวิทยุกระจายเสียงของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งเป็นวิทยุในสังกัดสถาบันอุดมศึกษาย่อมไม่เพียงแค่การให้ความบันเทิงหรือเป็นเครื่องมือในการถ่ายทอดข่าวสารกิจการนโยบายภาครัฐเท่านั้น ยังช่องการในการขับเคลื่อนองค์ความรู้ที่ถูกสั่งสมด้วยความเชี่ยวชาญของมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่สั่งสมมาถึง 57 ปีได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้เพื่อเป็นการแสดงบทบาทที่สังคมคาดหวังจากสถานีวิทยุในสังกัดสถาบันอุดมศึกษาทำให้สถานีวิทยุมหาวิทยาลัยขอนแก่นยังได้เข้าร่วมก่อตั้งและขับเคลื่อนในการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับสถานีวิทยุในสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศอีก 10 แห่งมาตั้งแต่ พ.ศ.2549 ผ่านการผลิตรายการ “เครือข่ายสายตรงวิทยุสถาบันอุดมศึกษา”ที่มีการแลกเปลี่ยนการผลิตรายการด้านความรู้ แล้วถ่ายทอดออกอากาศพร้อมกันไปทุกภูมิภาคทั่วประเทศบนคลื่นความถี่วิทยุพร้อมกับระบบออนไลน์เพื่อเพิ่มช่องทางในการรับฟังของประชาชน โดยมี งานสื่อสาร กองสื่อสารองค์กรเป็นหน่วยงานหลักในการจัดการเนื้อหาที่เชื่อได้ว่ามีประโยชน์ทั้งในด้านความรู้และภาพลักษณ์ที่ดีต่อมหาวิทยาลัย
นางเบญจมาภรณ์ มามุข หัวหน้างานสื่อสาร กองสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในฐานะผู้ร่วมบริหารจัดการเครือข่ายและผู้ผลิตรายการเครือข่ายสายตรงวิทยุสถาบันอุมดมศึกษา กล่าวถึงคุณค่าและผลลัพธ์ของการสร้างเครือข่ายความร่วมมือของสื่อวิทยุว่า ในโลกปัจจุบัน เป็นโลกยุคข้อมูลข่าวสาร และ สารสนเทศซึ่งในอนาคตก็ยังคงเป็นเช่นนี้ ทั่วโลกสามารถสื่อสารกันได้อย่างรวดเร็วผ่านสื่อ และ เทคโนโลยีและสารสนเทศ ที่ทันสมัยในรูป แบบต่าง ๆ ตามยุคตามสมัย แต่สิ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงไปเลยแม้ยุคสมัยจะเปลี่ยนแปลงไปมากมายแค่ไหนก็ตาม นั่นคือข้อมูล ข่าวสาร สาระ ซึ่งถือเป็น Content ที่สำคัญที่จะถูกสื่อสารไปตามช่องทางต่าง ๆ รวมถึงวิทยุกระจายเสียงที่ยังคงมีบทบาทสำคัญ ที่ยังคงทำหน้าที่ในการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร สาระ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะการนำองค์ความรู้สำคัญที่มีอยู่มากมายจากมหาวิทยาลัยถ่ายทอดสู่สาธารณชน อันจะเป็นการช่วยพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การพัฒนาประเทศ และที่สำคัญยังเป็นการใกล้ชิดกับประชาชนได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งสิ่งที่สำคัญมากไปกว่านั้น คือการสร้างพันธมิตรหรือเครือข่ายความร่วมมือของสถานีวิทยุระหว่างสถาบันในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ ภายใต้ โครงการ เชื่อมโยงสถาบัน เพื่อสรรค์สร้างสื่อการศึกษาไทย เป็นการร่วมมือกันระหว่างสถาบันอุดมศึกษาไทย ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารระหว่างวิทยุสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ทั้งในส่วนกลางและภูมิภาคอันเป็นประโยชน์ต่อประชาชน เป็นการขยายคลื่นวิทยุของแต่ละสถานีวิทยุโดยความร่วมมือกันดังกล่าวให้กว้างไกลออกไปสู่ภูมิภาคอื่น ๆ มากขึ้น ให้ความรู้ ความเข้าใจแก่ผู้ฟัง ในสถานการณ์ข่าวประจำวันต่าง ๆ ทั้งในกรุงเทพ และ ภูมิภาคต่าง ๆ รวมทั้งข่าวคราวความเคลื่อนไหวทางด้านวิชาการของสถาบันต่าง ๆที่ให้ความร่วมมือ พร้อมทั้งกิจกรรมของนิสิต นักศึกษาในแต่ละสถาบันด้วย รวมถึงเปิดโอกาสให้ผู้ฟังมีส่วนร่วมในรายการ ด้วยรูปแบบ interactive ผู้ฟังสามารถโทรศัพท์มาสอบถาม หรือ แสดงความคิดเห็นในรายการได้ ทั้งหมดนั้นเป็นการเชื่อมโยงสถาบัน เพื่อสรรค์สร้างสื่อการศึกษาทำให้ประชาชน ได้รับทราบข้อมูลข่าวสาร ที่ใกล้ชิดกับสถาบัน ในภูมิภาคต่าง ๆ มากยิ่งขึ้นอันจะเป็นการสร้างความมีตัวตนของสถานีวิทยุสถาบันการศึกษา สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของสถานีวิทยุกระจายเสียงมหาวิทยาลัยขอนแก่น “สถานีความรู้ ข่าวสาร บริการสาธารณะ”พร้อมยังเป็นการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะการมุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อสังคม สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ Sustainable Development Goals (SDGs) ของมหาวิมหาวิทยาลัยขอนแก่น นั่นเอง
การสร้างความเชื่อมั่นของประชาชนให้มีต่อองค์กรถือเป็นเป้าหมายสำคัญหนึ่งที่จะผลักดันให้องค์กรนั้นได้รับความร่วมมือที่ดี ดังนั้นหน่วยงานภาครัฐต้องสามารถแสดงให้เห็นได้ว่ามีการทำงานที่ใกล้ชิดเชื่อมโยงกับชุมชนและสังคม เป็นเวลาที่สถานีวิทยุมหาวิทยาลัยขอนแก่นได้แสดงบทบาทผ่านการสื่อสารพร้อมกับการเปิดพื้นที่เพื่อการเรียนรู้อย่างเป็นรูปธรรม เกิดเป็นโครงการ CSV: Creating Shared Value ที่มีรายการวิทยุกระจายเสียงจากผู้แทนชุมชนมาเป็นผู้ผลิตรายการ บอกเล่าเรื่องราวของชุมชนตัวเองสลับหมุนเวียนกันไปอย่างทีสีสัน
นางสาวชุตินันท์ พันธ์จรุง นักประชาสัมพันธ์ กองสื่อสารองค์กร ผู้รับผิดชอบดำเนินโครงการ KKU CSV : การขับเคลื่อนเครือข่ายชุมชนและวิทยุชุชน ผ่านรายการมหาวิทยาลัยขอนแก่นเพื่อชุมชน ได้พูดถึงผลสะท้อนจากชุมชนที่มีต่อมหาวิทยาลัยขอนแก่นผ่านการมีส่วนร่วมในรายการวิทยุกระจายเสียงว่า “การผลิตรายการมหาวิทยาลัยขอนแก่นเพื่อชุมชน เดิมทีเกิดจากนโยบายการเชื่อมความสัมพันธ์และสร้างช่องทางการสื่อสาร ระหว่างมหาวิทยาลัยขอนแก่น และชุมชนรอบรั้วมหาวิทยาลัย เพื่อลดช่องว่างทางการสื่อสาร เราปฏิเสธไม่ได้ว่ายุคก่อน ชาวชุมชนจะมองคนมหาวิทยาลัยขอนแก่นว่าอยู่บนหอคอยงาช้าง การเข้ามาติดต่อสอบถามหน่วยงานภายในมหาวิทยาลัยขอนแก่น ไม่รู้จะติดต่อหน่วยงานไหน รวมถึงการขับเคลื่อนนโยบายด้านต่างๆ หรือการจัดกิจกรรมงานสำคัญประจำปี เช่น พิธีพระราชทานปริญญาบัตร การแข่งขันขอนแก่นมาราธอนนาชาติ ล้วนส่งผลทั้งด้านบวกและด้านลบต่อชุมชน ด้านบวก เช่น ด้านการกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้านลบ เช่น การจรจารที่ติดขัด จำนวนขยะที่เพิ่มขึ้น ในช่วงการจัดงาน เป็นต้น สิ่งเรานี้เป็นเพียงบางตัวอย่างที่อาจเป็นประเด็นที่อาจก่อความให้เกิดความเข้าที่ที่คลาดเคลื่อน ระหว่างมหาวิทยาลัยและชาวชุมชน ซึ่งหากไม่ได้รับการสื่อสารที่ถูกต้อง เหมาะสมและรวดเร็ว อาจทำให้เกิดการร้องเรียนสิทธิ หรือการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานรัฐ ตามกฎหมายที่กำหนดไว้
ด้วยเหตุผลดังกล่าว การสร้างช่องทางการสื่อสาร ระหว่างมหาวิทยาลัยขอนแก่นและชุมชน จึงถูกจัดขึ้นผ่านรายการมหาวิทยาลัยขอนแก่นเพื่อชุมชน โดยออกอากาศทุกวันอังคารและวันพฤหัสบดี เวลา 15.00-16.00 น. มีผู้นำชุมชน กว่า 30 ชุมชน ตัวแทนหน่วยงานรัฐ ที่อยู่ใกล้เคียงมหาวิทยาลัยขอนแก่น สลับหมุนเวียนมาจัดรายการ เป็นประจำทุกสัปดาห์ และมีการจัดช่วง special talk เดือนละ 1 ครั้ง โดยการเรียนเชิญนักวิชาการของมหาวิทยาลัยขอนแก่นมาร่วมพูดคุยกับประธานชุมชน ทำให้ทั้งสองกลุ่มได้พูดคุยกันโดยตรง และสร้างเครือข่ายทางการบริการวิชาการ ไปในตัว และในปีงบประมาณ 2563 -2564 ก็มีการขยายเครือข่ายความร่วมมือ โดยเรียนเรียนเชิญเครือข่าวสถานีวิทยุชุมชนในจังหวัดขอนแก่น มาร่วมเป็นเครือข่ายสื่อสร้างสรรค์สังคม และจากการผลิตรายการมหาวิทยาลัยขอนแก่นมากว่า 4 ปี ผลสะท้อนที่ได้จากการสอบถามความคิดเห็นของผู้นำชุมชน แบบ (Focus Group) ผู้นำชุมชนส่วนใหญ่ที่มาร่วมรายการขอบคุณมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่สร้างช่องทางการสื่อสารระหว่างชุมชนและมหาวิทยาลัย อย่างสถานีวิทยุกระจายเสียงมหาวิทยาลัยขอนแก่น สร้างกิจกรรมที่ทำให้มหาวิทยาลัยขอนแก่นและชุมชนได้ทำร่วมกันอย่างต่อเนื่อง และขอให้มีรายการต่อไป เพื่อเป็นช่องทางประชาสัมพันธ์กิจกรรมของชุมชน และสะท้อนความคิดเห็นของชาวชุมชนต่อนโยบายการบริหารมหาวิทยาลัย ลดข้อร้องเรียนจากชาวชุมชน และสนับสนุน ปรับปรุง แก้ไข ให้การดำเนินนโยบายของมหาวิทยาลัยรอบคอบและรอบด้านในทุกมิติ นางสาวชุตินันท์ พันธ์จรุง กล่าวในที่สุด
ในช่วงเวลาที่ทุกองค์กรภายใต้การกำกับของรัฐต้องสามารถแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการทำงานที่คุ้มค่าสามารถสะท้อนผลปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมของนโยบายได้แล้วนั้น วิทยุกระจายเสียงมหาวิทยาลัยขอนแก่นถือเป็นกลจักรสำคัญที่ช่วยในการตอบตัวชี้วัดผ่านกิจกรรมการสื่อสารได้หลายมิติ ทั้งการเพิ่มโอกาสการเรียนรู้ การทำงานเพื่อสังคมและชุมชน การเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับนักเรียน นักศึกษา ประชาชน ทั้งนี้เกิดจากการปูทางจากการดำเนินนโยบายทั้งด้านการเป็นสื่อสาธารณะที่เปิดกว้างเพื่อประชาชนและชุมชน เป็นช่องทางในการถ่ายทอดความรู้ที่หลากหลาย การสร้างโครงข่ายความร่วมมือเพื่อการเผยแพร่ที่กว้างไกล และเพื่อให้พร้อมกับความเปลี่ยนแปลงของโลกสื่อสารดิจิทัลทำให้วันนี้ของสถานีวิทยุ มข.ได้ขึ้นไปโลดแล่นบนโลกออนไลน์
นายชุมพร พารา ผู้อำนวยการกองสื่อสารองค์กร สำนักงานอธิการบดีได้กล่าวถึง แนวทางการพัฒนาในอนาคตเพื่อนำวิทยุกระจายเสียงมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดว่า “กองสื่อสารองค์กรได้ตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจึงได้มีการพัฒนาและเพิ่มขีดความสามารถในการดำเนินงานด้านการผลิตและนำเสนอรายการต่างๆให้มีความรวดเร็ว ฉับไว ทันสมัย ถูกต้อง เที่ยงตรง และเป็นธรรม มีรูปแบบและวิธีการนำเสนอที่น่าสนใจอยู่เสมอมา เพื่อให้ทันสมัยและสอดคล้องกับความต้องการด้านข้อมูลข่าวสารของประชาชนและสังคม เรายังมุ่งมั่นที่จะพัฒนาสถานีด้วยการสร้างการมีส่วนร่วมของภาคสังคมและชุมชนในการผลิตรายการ ส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการร่วมคิด ร่วมทำกับสถานีอย่างเป็นรูปธรรม และพัฒนาช่องทางการสื่อสารนำนวัตกรรมต่างๆมาให้บริการที่ทันสมัย หลากหลายกว้างขวางข้ามสื่อและข้ามเขตแดนของประเทศ นอกจากนี้เรายังมุ่งมั่นที่จะพัฒนาบุคลากรภายในสถานีซึ่งปีนี้เราได้กรอบอัตราพนักงานมหาวิทยาลัยเพื่อร่วมขับเคลื่อนสถานีถึง 3 อัตรา ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าเรามุ่งพัฒนาอย่างต่อเนื่อง”
ล่วงมากว่า47ปี บนเส้นทางเดินที่วิทยุมหาวิทยาลัยขอนแก่นได้ผ่านมา ได้เกิดช่วงเวลาของการพิสูจน์ตนเองหลายครั้งถึงคุณค่าที่ยังคงอยู่ของสื่อที่เคยยืนหนึ่งบนหน้าปัดคลื่นวิทยุFM 103 MHz ผ่านความทุ่มเทพยายามจากผู้บริหารและผู้ปฏิบัติหลายยุคสมัย ก่อให้เกิดความร่วมมือที่หลากหลายและลงลึก แม้ว่าหลายคนจะมองว่ายุคทองของวิทยุกระจายเสียงได้ผ่านพ้นไปแล้วในแง่ของการเป็นแหล่งรายได้และความนิยมจากผู้ฟังแต่สำหรับสถานีวิทยุกระจายเสียงมหาวิทยาลัยขอนแก่นกลับถือเป็นยุคแห่งการเริ่มต้นมิติใหม่ที่มีคุณค่าสำหรับประชาชน เป็นดั่งประตูหน้าบ้านบานใหญ่ที่พร้อมจะเปิดรับผู้คนที่ได้เข้ามาสัมผัสเนื้อแท้แห่งสถาบันที่ประกาศความมีตัวตนในฐานะมหาวิทยาลัยผู้อุทิศเพื่อสังคม และยังเป็นช่องทางเพื่อขับเคลื่อนผลงานอันมีคุณค่ายิ่งออกไปสู่ภายนอกให้ได้ร่วมภาคภูมิใจอีกด้วย.
อุดมชัย สุพรรณวงศ์
นักประชาสัมพันธ์ชำนาญการพิเศษ
เรียบเรียง