มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีการพัฒนาการ มาโดยลำดับ ตั้งแต่วันที่ก่อตั้งจนถึงปัจจุบัน โดยอาจแบ่งพัฒนาการตามความสำเร็จของการบริหารและพัฒนามหาวิทยาลัยได้ ๓ ยุค
ยุคที่หนึ่ง : ยุคแห่งการก่อตั้งและขยายตัวของมหาวิทยาลัย
เป็นช่วงเวลาที่ค่อนข้างยาวนานเกือบ ๒ ทศวรรษ อยู่ในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๐๗-๒๕๒๖ ในช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาแห่งการก่อตั้งและการขยายตัวของมหาวิทยาลัยอย่างต่อเนื่อง
“การตั้งมหาวิทยาลัยขอนแก่นเพิ่มขึ้นอีกแห่งหนึ่งนั้นเป็นคุณอย่างยิ่ง เพราะทำให้การศึกษาชั้นสูงขยายออกไปถึงภูมิภาคที่สำคัญที่สุดส่วนหนึ่งของประเทศ ซึ่งต่อไปจะเป็นผลดีแก่การพัฒนา ยกฐานะความเป็นอยู่ของประชาชนในภูมิภาคนี้เป็นอย่างยิ่ง ความสำเร็จในการตั้งมหาวิทยาลัยขอนแก่นจึงเป็นความสำเร็จที่ทุกคนควรจะยินดี”
• ในปี พ.ศ. ๒๕๐๕ รัฐบาล จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีมติให้จัดตั้งสถาบันการศึกษาชั้นสูง ด้านวิศวกรรมศาสตร์ และเกษตรศาสตร์ ขึ้นที่จังหวัดขอนแก่น โดยได้เสนอชื่อสถาบันแห่งนี้ว่า “สถาบันเทคโนโลยีขอนแก่น” และเสนอชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า “Khon Kaen Institute of Technology” มีชื่อย่อว่า K.I.T. หลังจากนั้นได้เปลี่ยนชื่อสถาบันเป็น “มหาวิทยาลัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” มีชื่อย่อว่า “North-East University หรือ N.E.U” เนื่องจากขณะนั้นยังไม่มีหน่วยราชการใด ที่จะรับผิดชอบการดำเนินการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยโดยตรง รัฐบาลจึงได้มีมติให้สภาการศึกษาแห่งชาติเป็นผู้รับผิดชอบในด้านการหาสถานที่ จัดร่างหลักสูตร ตลอดจนการติดต่อความช่วยเหลือจากต่างประเทศ
• ในปี พ.ศ. ๒๕๐๖ คณะอนุกรรมการฯ ได้ตกลงเลือกบ้านสีฐานเป็นที่ตั้งมหาวิทยาลัย โดยมีเนื้อที่ประมาณ ๕,๕๐๐ ไร่ ห่างจากตัวเมืองขอนแก่น ๔ กิโลเมตร
• เมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๐๗ ได้มีการก่อสร้างอาคาร “คณะวิทยาศาสตร์-อักษรศาสตร์” และรับนักศึกษาของมหาวิทยาลัยรุ่นแรก ในวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๐๗ จำนวนทั้งสิ้น ๑๐๗ คน
ช่วงปี พ.ศ. ๒๕๐๗ – ๒๕๑๖
มหาวิทยาลัยขอนแก่นในยุคเริ่มก่อตั้ง มี ๓ คณะวิชา ประกอบด้วย คณะเกษตรศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณะวิทยาศาสตร์-อักษรศาสตร์ (ซึ่งจะทำหน้าที่สอนในรายวิชาพื้นฐานยังไม่ได้เปิดรับนักศึกษา) ในปีแรกมีการรับนักศึกษา จำนวนทั้งสิ้น ๑๐๗ คน และมีบัณฑิตระดับปริญญาตรีรุ่นแรกในปีการศึกษา ๒๕๑๐ จำนวน ๕๙ คน ต่อมาได้มีการจัดตั้งคณะศึกษาศาสตร์ (๒๕๑๒) คณะพยาบาลศาสตร์ (๒๕๑๔) และคณะแพทยศาสตร์ (๒๕๑๕) ทำให้ในช่วงนี้มีคณะวิชา รวมทั้งสิ้น ๖ คณะวิชา นอกจากนี้ยังมีการก่อตั้งโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่นขึ้นมาเพื่อใช้เป็นฐานในด้านการเรียนการสอน และเป็นการบริการวิชาการให้แก่ชุมชนภายนอกมหาวิทยาลัยด้วย
ช่วงปี พ.ศ. ๒๕๑๗ – ๒๕๒๖
มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีการขยายการศึกษาในสาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ โดยมีการจัดตั้งคณะเทคนิคการแพทย์ (๒๕๒๑) คณะสาธารณสุขศาสตร์ (๒๕๒๑) คณะทันตแพทยศาสตร์ (๒๕๒๒) คณะเภสัชศาสตร์ (๒๕๒๓) คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ (๒๕๒๑) และบัณฑิตวิทยาลัย (๒๕๒๑) นอกจากนี้ ยังมีการจัดตั้งหน่วยงานสนับสนุนภารกิจของมหาวิทยาลัย เช่น สำนักวิทยบริการ สถาบันวิจัยและพัฒนา และที่สำคัญมีการสร้างโรงพยาบาลศรีนครินทร์ นอกจากจะใช้เป็นฐานในการผลิตบัณฑิตในสาขาแพทยศาสตร์แล้ว ยังเป็นแหล่งให้บริการด้านการรักษาพยาบาลแก่ประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนืออีกด้วย ในช่วงนี้มีคณะวิชารวมทั้งสิ้น ๑๒ คณะวิชา
ยุคที่สอง : ยุคแห่งการพัฒนาและสร้างองค์ความรู้
ในการพัฒนามหาวิทยาลัยในแต่ละช่วง นอกจากจะพัฒนาหลักสูตรเพื่อผลิตบัณฑิตที่ตอบสนองต่อความต้องการของชุมชนและสังคมแล้ว งานวิจัยก็เป็นหน้าที่ที่สำคัญของมหาวิทยาลัย โดยเป็นการวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ และการให้บริการวิชาการแก่ชุมชนและสังคมควบคู่กันไป ในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๒๗-๒๕๔๖ จึงเป็นยุคแห่งการพัฒนาและสร้างองค์ความรู้สู่การบริการชุมชน ทั้งการจัดตั้งหน่วยงานการพัฒนาหลักสูตรเพิ่มขึ้น และมีการพัฒนาขีดความสามารถด้านการวิจัยเพิ่มมากขึ้น
ช่วงปี พ.ศ. ๒๕๒๗ – ๒๕๓๖
ในตอนต้นของช่วงนี้มีการจัดตั้ง คณะ/หน่วยงาน ได้แก่ คณะเทคโนโลยี (๒๕๒๗) คณะสัตวแพทยศาสตร์ (๒๕๒๙) คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ (๒๕๓๑) และคณะวิทยาการจัดการ (๒๕๓๕) นอกจากนี้ ยังมีการจัดตั้งศูนย์คอมพิวเตอร์ (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นสำนักเทคโนโลยีสารสนเทศ) ศูนย์การศึกษาต่อเนื่อง (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นสำนักบริการวิชาการ) และศูนย์หัวใจสิริกิติ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พร้อมทั้งยังได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้ดำเนินการจัดตั้งวิทยาลัยอุบลราชธานี และวิทยาลัยสุรนารี ต่อมาได้แยกตัวออกเป็นมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ตามลำดับ ในช่วงทศวรรษที่ ๓ มหาวิทยาลัยมีคณะวิชารวมทั้งสิ้น ๑๖ คณะวิชา
ในยุคนี้นอกจากจะผลิตบัณฑิตในสาขาวิชาต่างๆ อย่างต่อเนื่อง และมีบัณฑิตออกไปรับใช้สังคมจำนวนมาก กระจายอยู่ตามภาคส่วนต่างๆ ของประเทศแล้ว มหาวิทยาลัยยังได้ทำการศึกษาวิจัย ค้นคว้าเพื่อสร้างองค์ความรู้ที่สามารถนำไปแก้ปัญหาเชิงพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อาทิ การพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กในชนบทเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำทางด้านการเกษตร และการพัฒนาเกษตรเชิงระบบร่วมกับต่างประเทศ การวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้เพื่อการพัฒนาและแก้ปัญหาด้านสุขภาพและโรคภัยไข้เจ็บที่สำคัญของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเริ่มมีการศึกษาวิจัยทางด้านสังคมศาสตร์และวัฒนธรรมของภูมิภาคเพิ่มมากขึ้น
ช่วงปี พ.ศ. ๒๕๓๗ – ๒๕๔๖
ในช่วงนี้มหาวิทยาลัยมีการก่อตั้งคณะวิชาต่างๆ เพิ่มมากขึ้น ยังผลให้เป็นมหาวิทยาลัยที่สมบูรณ์แบบ (Comprehensive University) ที่สำคัญของประเทศ โดยมีการจัดตั้งคณะศิลปกรรมศาสตร์ (๒๕๓๗) วิทยาเขตหนองคาย (๒๕๔๐) และวิทยาลัยบัณฑิตศึกษาการจัดการ (๒๕๔๐) พร้อมทั้งมีการจัดตั้งหน่วยงานสนับสนุนการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยเพิ่มขึ้น เช่น สำนักทะเบียนและประมวลผล (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นสำนักบริหารและพัฒนาวิชาการ) สถาบันความร่วมมือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขง (ปัจจุบันเปลี่ยนสถานภาพเป็นองค์กรระหว่างประเทศ) สถาบันสันติศึกษา (เป็นหน่วยงานในกำกับของมหาวิทยาลัย) ในช่วงนี้มีคณะวิชารวมทั้งสิ้น ๑๘ คณะวิชา และ ๑ วิทยาเขต
นอกจากมหาวิทยาลัยจะผลิตบัณฑิตในระดับปริญญาตรีแล้วยังเน้นการผลิตบัณฑิตระดับบัณฑิตศึกษาเพิ่มขึ้น โดยมีหลักสูตรในระดับบัณฑิตศึกษาประมาณ ๒ ใน ๓ ของหลักสูตรทั้งหมดของมหาวิทยาลัย (ประมาณ ๓๐๐ หลักสูตร) รวมทั้งเริ่มให้ความสำคัญทางด้านวิจัยมากขึ้นโดยการจัดตั้งศูนย์วิจัยเฉพาะทางขึ้นในมหาวิทยาลัย ทั้งนี้จะสอดคล้องกับความเชี่ยวชาญที่โดดเด่นของคณาจารย์ และเห็นว่าเป็นองค์ความรู้ที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศและภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พร้อมทั้งการให้การสนับสนุนงบประมาณ และมีการจัดตั้งกลุ่มวิจัยขึ้นเพื่อให้คณาจารย์รุ่นใหม่ได้ร่วมกันทำวิจัยอย่างจริงจัง
ยุคที่สาม : มหาวิทยาลัยแห่งการวิจัย และมหาวิทยาลัยวิจัยชั้นนำ
ในช่วงนี้เป็นยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงจากภาวะโลกาภิวัตน์ ซึ่งมีความเจริญก้าวหน้าทางวิชาการและเทคโนโลยีแบบก้าวกระโดด การเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจและสังคมที่มีผลกระทบไปทั่วโลก รวมทั้งนโยบายการเปิดการค้าเสรีของประเทศ ประกอบกับประเทศไทยเริ่มมีการปฏิรูประบบการบริหารราชการให้มีเป้าหมายมุ่งผลสัมฤทธิ์โดยการนำแนวคิดการบริหารเชิงกลยุทธ์ (Strategic management) และระบบการบริหารคุณภาพเข้ามาใช้ในหน่วยงานราชการ
ช่วงปี พ.ศ. ๒๕๕๗ – ๒๕๕๖
มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้ปรับเปลี่ยนระบบการบริหารจากเดิมเป็นการบริหารกลยุทธ์ โดยมีการปรับโครงสร้างของการบริหารหน่วยงาน และระบบการบริหาร โดยการกำหนดวิสัยทัศน์ให้ มหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นมหาวิทยาลัยแห่งการวิจัยในการสร้างองค์ความรู้ใหม่ที่ใช้ในการพัฒนาชุมชนสังคมและประเทศชาติ มหาวิทยาลัยเริ่มมีความเข้มแข็งด้านการวิจัย มีการจัดตั้งศูนย์วิจัยเฉพาะทางขึ้นมา ๑๕ ศูนย์วิจัย มีผลงานวิจัยได้รับการตีพิมพ์และการอ้างอิงในเชิงวิชาการทั้งในวารสารในประเทศ และวารสารในระดับนานาชาติ ผลงานวิจัยหลายผลงานถูกนำไปใช้เพื่อแก้ปัญหาหลักของพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งได้ประกาศปณิธานของมหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็น “อุทิศเพื่อสังคม (Social Devotion)” เพื่อสื่อสารถึงประชาคมในมหาวิทยาลัยและภายนอกให้รับราบถึงทิศทางการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ขณะเดียวกัน มหาวิทยาลัยยังพัฒนาตนเองเข้าสู่การประเมินคุณภาพอย่างเข้มข้นโดยองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและหน่วยงานอิสระจากภายนอก เช่น สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) สำนักงานประเมินและรับรองมาตรฐานการศึกษา (สมศ.) องค์การมหาชน สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ตลอดจนการเข้าสู่การประเมินในระดับนานาชาติจากการจัดอันดับของนิตยสาร Asia week (Asia’s Best Universities 2000) และการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกโดยนิตยสาร Times (World University Ranking 2006)
ในปี พ.ศ. ๒๕๕๒ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้รับการคัดเลือกจากรัฐบาลให้เป็น “มหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ” ๑ ใน ๙ แห่ง โดยมีเป้าหมายที่จะนำเอางานวิจัยไปแก้ปัญหาให้กับภาคตะวันออกเฉียงเหนือและขับเคลื่อนให้มหาวิทยาลัยก้าวไปสู่ระดับโลก ขณะเดียวกัน มีการดำเนินการ ควบรวมกองบริการการศึกษาเข้ากับสำนักทะเบียนและประมวลผล เป็นสำนักบริหารและพัฒนาวิชาการ มีการจัดตั้งคณะนิติศาสตร์ (๒๕๔๙) วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น (๒๕๕๐) วิทยาลัยนานาชาติ (๒๕๕๑) และในปี พ.ศ. ๒๕๕๕ ได้ปรับโครงสร้างวิทยาเขตหนองคาย ให้มี ๔ คณะวิชา ได้แก่ คณะบริหารธุรกิจ คณะสังคมศาสตร์บูรณาการ คณะศิลปศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ประยุกต์และวิศวกรรมศาสตร์ พร้อมทั้งมีการจัดตั้งหน่วยงานสนับสนุนภารกิจขึ้นอีกหลายหน่วยงาน เช่น สำนักงานนวัตกรรมการเรียนการสอน สำนักวิชาศึกษาทั่วไป สถาบันภาษา สถาบันขงจื่อ สำนักบริหารการวิจัย สำนักงานประเมินและประกันคุณภาพ สำนักงานประสานและจัดการเรื่องร้องเรียน สำนักงานกฎหมาย สำนักงานทรัพย์สินทางปัญญา ตลอดจนหน่วยงานที่เป็นองค์กรในกำกับ ได้แก่ ศูนย์ประสานงานเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจ สำนักงานอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สถาบันยุทธศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และอาคารขวัญมอ ช่วงนี้มีคณะวิชา รวมทั้งสิ้น ๒๕ คณะวิชา
ช่วงปี พ.ศ. ๒๕๕๗ – ปัจจุบัน
ในช่วงนี้มหาวิทยาลัยขอนแก่นมีความเจริญเติบโต หน่วยงานมีขนาดใหญ่ขึ้น มีการจัดตั้งคณะเศรษฐศาสตร์ขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๕๘ โดยการแยกตัวออกมาจากคณะวิทยาการจัดการ พร้อมทั้งมีการเปลี่ยนชื่อคณะวิทยาการจัดการเป็น “คณะบริหารธุรกิจและการบัญชี” ในปีเดียวกัน มหาวิทยาลัยยังได้ปรับเปลี่ยนสถานภาพจากมหาวิทยาลัยที่เป็นส่วนราชการไปเป็น “มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ” เมื่อวันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๕๘ เพื่อให้การบริหารมหาวิทยาลัยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และสนองตอบต่อสภาวะการณ์เปลี่ยนแปลงของสังคมภายนอก อาทิ การลดลงของอัตราการเกิดของประชากรที่ส่งผลให้ประชากรวัยเด็กที่จะเข้าศึกษามีจำนวนน้อยลง ทำให้การแข่งขันในการรับเข้าสูงขึ้น มีมหาวิทยาลัยเปิดให้บริการมากขึ้นทั้งมหาวิทยาลัยของรัฐ มหาวิทยาลัยเอกชนและมหาวิทยาลัยต่างชาติเข้ามาตั้งในประเทศไทยมากขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากการเปิดเสรีประชาคมอาเซียน และการเปลี่ยนแปลงระบบการรับเข้าศึกษาในสถานอุดมศึกษาใหม่ที่เรียกว่า TCAS ซึ่งส่งผลต่อจำนวนนักศึกษาที่รับเข้ามหาวิทยาลัยก็ต้องมีการพัฒนาหลักสูตรใหม่ให้มีลักษณะของการบูรณาการความรู้ข้ามศาสตร์มากขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของนักศึกษารุ่นใหม่
จากการประกาศปณิธานของมหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็น “อุทิศเพื่อสังคม (Social Devotion)” มหาวิทยาลัยได้สนับสนุนให้มีการนำผลงานวิจัยไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในพื้นที่ เช่น โครงการชุมชนต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียงที่กระจายไปทั่วภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โครงการแก่ละว้า โครงการอำเภอ มข. พัฒนา รวมถึง โครงการแก้ไขปัญหาสาธารณสุขและการศึกษาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่บูรณาการศาสตร์ต่างๆ เข้าด้วยกัน และได้รับการสนับสนุนงบประมาณอย่างต่อเนื่องจากรัฐบาล ประกอบด้วยโครงการย่อยดังนี้ โครงการแก้ไขปัญหาโรคพยาธิใบไม้ในตับและมะเร็งท่อน้ำดีในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โครงการพัฒนาการคิดขั้นสูงทางคณิตศาสตร์ของนักเรียนในเขตพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โครงการแก้ไขปัญหาความยากจนตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง โครงการป้องกันและชะลอโรคไตเรื้อรังในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โครงการ KKU Smart Learning เป็นต้น การดำเนินโครงการดังกล่าวส่งผลให้คุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ดีขึ้นเป็นลำดับ
ในส่วนของการบริการวิชาการแก่สังคม มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยคณะแพยศาสตร์ได้ดำเนินการขยายการให้บริการของโรงพยาบาลศรีนครินทร์ และยกระดับให้เป็นศูนย์การแพทย์ชั้นเลิศ ที่มีการรักษาพยาบาลที่ครอบคลุมการโรคที่เป็นปัญหาหลักของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งได้งบประมาณก่อสร้างจากรัฐบาล ในปี พ.ศ. ๒๕๖๒ เป็นจำนวนเงิน ๔,๓๐๐ ล้านบาท
นอกเหนือจากภารกิจหลักที่กล่าวมาข้างต้น มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้พัฒนาตนเองให้เป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้ตลอดชีวิตของสังคม (Lifelong Learning Center) โดยได้ทำการปรับปรุงพื้นที่ภายในมหาวิทยาลัยให้เป็นอุทยานการเรียนรู้ของสังคมเช่น พื้นที่บริเวณบึงสีฐานและสนามกีฬาของมหาวิทยาลัยให้เป็นสถานที่ออกกำลังกาย (Sport Park) พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้บุคคลภายนอกสามารถเข้ามาใช้พื้นที่ได้ การสร้างพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ และพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำจังหวัดหนองคาย การเก็บรักษาพื้นที่ป่าดั้งเดิมและพื้นที่ศึกษานกธรรมชาตินานาชนิด การปรับพื้นที่ให้เป็นแหล่งความรู้ทางการเกษตรครบวงจร (Agro Park) และอุทยานศิลปวัฒนธรรม (Culture Park) เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันมีบุคคลภายนอกเข้ามาเรียนรู้ และร่วมกิจกรรมการเรียนรู้จำนวนมาก
ในด้านการบริหารคุณภาพ ปัจจุบันมหาวิทยาลัยขอนแก่นได้รับการประเมินจากหน่วยงานภายนอกทั้งในระดับสถาบัน ระดับคณะ และระดับหลักสูตร โดยใช้เกณฑ์มาตรฐานการประเมินในระดับประเทศและระดับสากล ได้แก่ QS Ranking , Times Higher Education และระบบอื่นๆ ซึ่งในปี พ.ศ. ๒๕๖๑ มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้รับการประเมินจาก THE (Times Higher Education) ให้เป็นมหาวิทยาลัยอันดับ ๑ ของประเทศไทยด้าน Social Impact เป็นอันดับ ๑๕-๔๐ ของเอเชีย และอันดัยที่ ๑๐๑-๒๐๐ ของโลก
สำหรับในประเทศนั้นมหาวิทยาลัยได้รับการประเมินจากหลายระบบทั้งการประเมินภายในจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) การประเมินคุณภาพโดยใช้เกณฑ์คุณภาพการศึกษาเพื่อการดำเนินการที่เป็นเลิศ (Education Criteria for Performance Excellence หรือ EdPEx) และเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติ (TQA) ซึ่งในปี พ.ศ. ๒๕๖๑ มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้รับการประเมินจากสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ กระทรวงอุตสาหกรรมให้ได้รับรางวัล TQC (Thailand Quality Class) นับเป็นสถาบันอุดมศึกษาแห่งแรกของประเทศไทยที่ได้รับรางวัลคุณภาพแห่งชาติในระดับมหาวิทยาลัย