รายงานจาก กรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่า สถานการณ์ล่าสุด ในประเทศไทย พบว่า ในแต่ละปีจะมีคนพยายามฆ่าตัวตายปีละ 53,000 คน เฉลี่ยชั่วโมงละ 6 คน โดยจะมีคนที่ฆ่าตัวตายสำเร็จอยู่ที่ประมาณปีละ 4,000 คน ซึ่งการฆ่าตัวตายในประเทศไทยเป็นสาเหตุการตายผิดธรรมชาติที่สูงเป็นอันดับ 2 รองจากอุบัติเหตุ
ในปี 2561 อัตราการฆ่าตัวตายอยู่ที่ 6.11 เพิ่มขึ้นจากอัตรา 6.03 ในปี 2560 โดยเพศชายมีอัตราการฆ่าตัวตายสูงกว่าเพศหญิงกว่า 4 เท่า ช่วงอายุที่มีจำนวนการฆ่าตัวตายสูงสุดของ เพศชายอยู่ที่ 35-39 ปี ส่วนเพศหญิงจำนวนการฆ่าตัวตายสูงสุดอยู่ที่ช่วงอายุ 50-54 ปี
จากข้อมูลดังกล่าวจึงทำให้หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาแนวทางในการป้องกันและแก้ไขมาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดพบว่าการพยายามฆ่าตัวตายมาจากการลอกเลียนแบบ หรือ Copy Cat ที่กลุ่มเสี่ยงหรือกลุ่มเปราะบางที่มีปัญหาเดียวกับผู้เสียชีวิตได้ เห็นจากสื่อต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการนำเสนอของสื่อมวลชน จึงทำให้คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับ โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ จัดประชุมวิชาการให้ความรู้แก่นักศึกษา บุคลากรด้านจิตแพทย์และสาธารณสุข โดยจัดให้มีการเสวนาในหัวข้อ “พลังของสื่อการกับจัดการปัญหาการฆ่าตัวตาย (The Power of media for Suicide Problem solving)” เมื่อวันที่ 22 ก.ค.62 ที่ห้องมงกุฎเพชร โรงแรมโฆษะ จังหวัดขอนแก่น โดยได้รับเกียรติจาก คุณกิตติ สิงหาปัด ผู้ประกาศข่าวชื่อดัง รายการข่าว 3 มิติ ทางช่อง 3 และคุณชุมพร พารา ผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อออนไลน์ มาเป็นวิทยากร
สำหรับการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนมีข้อมูลที่ชี้ว่ามีผลต่อการลอกเลียนแบบของกลุ่มเสี่ยง โดยวงเสวนามีข้อเสนอแนะว่าในการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายควรยึดถือจริยธรรมของสื่อมวลชนที่ไม่ล่วงละเมิดสิทธิ์ส่วนบุคคล การนำเสนอข่าวควรระมัดระวังไม่ทำเป็นพาดหัว ไม่เขียนข่าวในลักษณะที่อ่านแล้วมีสันสันหรือก่อความรู้สึกสะเทือนใจ หลีกเลี่ยงการเขียนข่าวบรรยายการฆ่าตัวตายอย่างละเอียด การลงภาพการกระทำ หรือฉายคลิปซ้ำๆ ที่จะเป็นแนวทางให้กลุ่มเสี่ยงเกิดการเลียนแบบได้ หลีกเลี่ยงการเน้นย้ำถึงสาเหตุหรือสัมภาษณ์ผู้ใกล้ชิดถึงปัญหาต่างๆ อย่างละเอียด ซึ่งผุ้ที่ซึมเศร้าหรือมีปัญหาอาจรู้สึกว่าผู้ฆ่าตัวตายมีปัญหาคล้ายกับมองว่าการฆ่าตัวตายคือทางออกของปัญหา ซึ่งแท้ที่จริงแล้วการฆ่าตัวตายแต่ละครั้งมีปัญหาสะสมซับซ้อนมากว่า1สาเหตุ คำนึงถึงการนำเสนอข่าวที่อาจส่งผลต่อความรู้สึกหรือผลกระทบในทางลบต่อญาติและผู้ใกล้ชิดฆ่าตัวตาย เพราะบรรดาคนใกล้ชิดเขามีความสูญเสีย เสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่แล้ว ยังต้องมาถูกละเมิดความเป็นส่วนตัวให้รู้สึกผิดด้วย
ผู้ที่ทำงานด้านสื่อมวลชนควรมีจรรยาบรรณ หรือจริยธรรมในวิชาชีพในการนำเสนอภาพข่าว หรือเหตุการณ์ต่างๆ ด้วยความสำนึกและรับผิดชอบในฐานะเป็นส่วนสำคัญของสังคมที่สมควรช่วยแก้ไขปัญหาและป้องกันปัญหาสังคมด้วยความสำนึกในวิชาชีพ หากมีกรณีฆ่าตัวตายควรเน้นเสนอข่าวในลักษณะให้ความรู้ความเข้าใจกับประชาชนที่มีอาการของโรคซึมเศร้าไปขอรับคำปรึกษาจากจิตแพทย์หรือช่องทางอื่นๆที่มีประโยชน์
ด้าน นายแพทย์ ธนวัฒน์ ขุราษี จิตแพทย์ ประจำโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สาเหตุสำคัญของการฆ่าตัวตายส่วนหนึ่งมาจากโรคซึมเศร้า ปัญหาด้านความสัมพันธ์ ความรัก ปัญหาด้านการใช้สุราและยาเสพติด โดยการฆ่าตัวตายแค่ละครั้งจะมีหลายสาเหตุที่ซับซ้อน ซึ่งข่าวการฆ่าตัวตายแต่ละครั้งจะกระทบต่อจิตใจของแต่ละคน โดยเฉพาะกับคนใกล้ชิด ซึ่งแนวทางป้องกันการฆ่าตัวตายสามารถป้องกันได้จากบุคคลรอบข้าง ครอบครัว ญาติ เพื่อนสนิท คนใกล้ชิด ชุมชม และสังคม การดูแลจิตใจซึ่งกันและกันเป็นสิ่งสำคัญ การพูดคุยซักถาม รับฟัง ให้กำลังใจ ให้คำปรึกษาแก่ผู้ที่กำลังมีปัญหาอย่างใส่ใจ ให้คลายจากความเศร้า ความกังวล เป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถช่วยกันได้ โดยเฉพาะผู้ที่มีประวัติเคยทำร้ายตนเองมาก่อน จะต้องคอยดูแลใกล้ชิด ช่วยเหลือประคับประคองจิตใจ หรือพาไปรับการรักษากับแพทย์ เช่นเดียวกับในรายที่มีความเครียดหรือมีอาการซึมเศร้า ซึ่งจะมีทั้งการใช้ยารักษา โดยต้องกินยาอย่างต่อเนื่อง และการให้การปรึกษาทางจิตวิทยา เพื่อเปลี่ยนความคิดและมุมมองก็จะช่วยได้ ส่วนผู้ที่มีปัญหาสามารถโทรปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง