วันนี้ 4 ธันวาคม 2563 มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดงานแถลงข่าว นักวิจัย มข.พบสื่อมวลชน ภายใต้หัวข้อ การวิจัยชีวมวลสาหร่าย ผลิตพลังงานสะอาด “ไฮเทน” โดย ศ.ดร. อลิศรา เรืองแสง ในฐานะนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา พร้อมทีมวิจัย ผศ.ดร. อภิลักษณ์ สลักคำ ผศ.ดร. เพ็ญศรี ปลั่งกลาง ดร.สิริพร ลุนพรม อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพ คณะเทคโนโลยี และ นส.อรวรรณ พันดวง นักศึกษาปริญญาเอก สาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพ คณะเทคโนโลยี มข.
การจัดงานแถลงข่าวในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นประธานกล่าวเปิดงาน พร้อมด้วยผู้บริหารมหาวิทยาลัย คณบดี คณะเทคโนโลยี และบุคลากร มข.เข้าร่วม และได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนทุกแขนงเป็นอย่างมาก
ทั้งนี้ ศาสตราจารย์ ดร.อลิศรา เรืองแสง นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา เมธีวิจัยอาวุโส สกว. นักวิจัยเกียรติคุณสารสิน และคณะนักวิจัย เผยว่า “การวิจัยในครั้งนี้ เป็นการนำชีวมวลสาหร่ายขนาดเล็กไปใช้ผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ ได้แก่ ไฮโดรเจน มีเทน และไฮเทน ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพที่ผสมระหว่างไฮโดรเจนและมีเทน จัดเป็นพลังงานสะอาดที่มีประสิทธิภาพการเผาไหม้สูง โดยสาหร่ายขนาดเล็กดังกล่าวนี้สามารถเจริญเติบโตได้รวดเร็ว เก็บเกี่ยวชีวมวลได้ตลอดทั้งปี อีกทั้งเพาะเลี้ยงได้ง่ายในธรรมชาติและใช้พื้นที่น้อย โดยคณะนักวิจัยได้ทำการพัฒนาและวิจัยกระบวนการ ผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพจากชีวมวลสาหร่ายขนาดเล็กนี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อมุ่งให้เกิดศักยภาพการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ “ไฮเทน” จากชีวมวลสาหร่ายขนาดเล็กในระดับอุตสาหกรรมและการนำไปใช้ในอนาคต”
การพัฒนางานวิจัยด้านการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ ได้แก่ ไฮโดรเจน มีเทน ไบโอดีเซล และเอทานอล จากชีวมวลทางการเกษตรต่าง ๆ อาทิ อ้อย ข้าวโพด มันสำปะหลัง มีความก้าวหน้าไปมาก แม้พืชชีวมวลเหล่านี้จะให้ผลผลิตเชื้อเพลิงภาพสูง แต่ต้องใช้พื้นที่มากรวมถึงการใช้สารฆ่าแมลงในการเพาะปลูกซึ่งส่งผลเสียต่อระบบนิเวศ อีกทั้งยังเกิดข้อโต้แย้งที่สำคัญในการนำพืชอาหารมาใช้เป็นพืชพลังงาน ดังนั้นการนำเอาชีวมวลสาหร่ายขนาดเล็กมาใช้ผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพจึงเป็นทางเลือกที่กำลังได้รับความสนใจ
ปัจจุบันเชื้อเพลิงชีวภาพที่ผลิตจากชีวมวลได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นและถูกนำไปใช้ประโยชน์มากมาย อาทิ เชื้อเพลิงไบโอมีเทนที่ถูกนำไปอัดบรรจุถังความดันสูงเป็นแก๊สไบโอมีเทนอัดหรือที่เรียกกันว่า “ก๊าซ CBG” ที่ใช้ในการหุงต้ม หรือใช้แทนก๊าซ NGV (Natural Gas for Vehicle) เป็นเชื้อเพลิงเครื่องยนต์ต่าง ๆ ได้ แต่การเผาไหม้ของมีเทนในเครื่องยนต์มีประสิทธิภาพไม่ดี มีช่วงการติดไฟที่ค่อนข้างแคบ และเผาไหม้ช้า จึงต้องใช้อุณหภูมิสูงในการเผาไหม้ แต่เมื่อเติมไฮโดรเจนเข้าไปทำให้ได้แก๊สผสมที่ชื่อว่า ไฮเทน ซึ่งมีช่วงการติดไฟกว้าง ความเร็วในการเผาไหม้เพิ่มขึ้น และสามารถเผาไหม้ได้ในอุณหภูมิที่ต่ำกว่า จึงทำให้ไฮเทนมีประสิทธิภาพที่ดีกว่ามีเทน
ศาสตราจารย์ ดร.อลิศรา เรืองแสง กล่าวเพิ่มเติมว่า “จากรายงานสถานการณ์พลังงานของประเทศไทยในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2563 (ม.ค. – ก.ค.) พบว่ามีความต้องการพลีงงานภายในประเทศตามการเติบโตของเศรษฐกิจ การนำเข้าพลังงานจึงมีมูลค่าถึง 410,261 ล้านบาท ฉะนั้นการใช้ชีวมวลจากสาหร่ายขนาดเล็กเพื่อการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพไฮเทนที่เป็นพลังงานหมุนเวียนสะอาด และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจึงเป็นแนวทางที่น่าสนใจในการแก้ปัญหานี้ การดำเนินการวิจัยที่ผ่านมาทำให้ได้องค์ความรู้ใหม่ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยง การเก็บเกี่ยว และการปรับสภาพชีวมวลสาหร่าขนาดเล็ก รวมไปถึงกระบวนการผลิตไฮโดรเจน มีเทน และไฮเทน ทั้งนี้เพื่อมุ่งให้เกิดศักยภาพต่อการขยายการผลิตไฮเทนในระดับอุตสาหกรรม ทำให้เกิดความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ อีกทั้งได้พลังงานทดแทนที่สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
ข่าว/ภาพ: พรหมพร ยอดแก้ว นศ.ฝึกงาน กองสื่อสารองค์กร
ผู้ควบคุมดูแลการทำงาน: บริพัตร ทาสี