4 โซน วัฒนธรรม ในงานสีฐานเฟสติวัล 2017

สีฐานเฟสติวัล บุญสมมาบูชาน้ำ Sithan KKU Festival 2017
ภายใต้แนวคิด “ศรัทธา มหาสนุก  ปลุกวิถีวัฒนธรรม”

มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับจังหวัดขอนแก่น  เทศบาลนครขอนแก่น องค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานขอนแก่น  จัดงานสีฐานเฟสติวัล บุญสมมาบูชาน้ำ Sithan KKU Festival 2017 ในวันที่ 1-3 พฤศจิกายน 2560 ณ บึงสีฐาน มหาวิทยาลัยขอนแก่น  ไม่หลงของเก่าไม่เมาของใหม่

พบ 4 โซน วัฒนธรรม ประกอบด้วย

โซนมรกตวารี  (บริเวณริมบึงสีฐาน)

โชว์ว่าวอีสาน…. วันที่ 1-3 พ.ย. 60  (11.00 น. – 12.00 น.)  บริเวณริมบึงสีฐานทิศตะวันตก

ว่าวเริ่มมีมาตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสนับสนุนกีฬาเล่นว่าว มีการประกวดและแข่งขันว่าวจุฬาและว่าวปักเป้า โดยมีกติกาการแข่งขันเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อให้การแข่งขัน ยุติธรรมและสนุกสนาน จากนั้นได้พัฒนามาเป็นการแข่งขันทุกภาคของประเทศไทย ในอีสานเล่น ว่าวหาง หรือว่าวดุ๊ยดุ่ย รองลงไปได้แก่ว่าวอีลุ้ม(หรือว่าวอีลุ่ม) ว่าวปลาโทดโทงและว่าวประทุน บางครั้งก็มีการแข่งขันในงานบุญ เช่น บุญกุ้มข้าวใหญ่ การแข่งขันว่าวนี้ตัดสินได้หลายอย่าง เช่น ว่าวสวย ว่าวที่ขึ้นได้สูงที่สุดหรือว่าวที่มีเสียงดังเพราะที่สุด

มวยไทย …. วันที่ 1-3 พ.ย. 60  (11.00 น. – 12.00 น.)  บริเวณริมบึงสีฐาน

มีร่องรอยพัฒนาการมาตั้งแต่สมัยสุวรรณภูมิ และรัตนโกสินทร์ เป็นศิลปะการต่อสู้ที่มีกลวิธีในการใช้ส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ได้แก่ มือ เท้า เข่า ศอกศิลปะมวยไทย คือ ศิลปะการต่อสู้ที่ใช้หลักพื้นฐานและทักษะ การต่อสู้ในระดับต่างๆ คือ ท่าร่าง เชิงมวย ไม้มวย และเพลงมวย อย่างผสมผสานกันจนมีประสิทธิภาพสูงสุด มวยไทยจึงเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ เป็นเครื่องมือ ที่ใช้ในการฝึกคนที่วิเศษอย่างหนึ่ง เพราะการฝึกมวยไทยช่วย พัฒนาร่างกาย อารมณ์ จิตใจ และสติปัญญา ให้เป็นผู้มีความ สมบูรณ์ทั้งกาย ใจ สามารถอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข นอกจากนี้ มวยไทยยังเป็นสื่อที่ทำให้ชาวต่างชาติเข้าใจและ ชื่นชมประเพณีวัฒนธรรมไทยมากขึ้นอีกด้วย

ขบวนแห่กระทงตระการตา –  (14.00 น. – 18.00 น.) 3 พ.ย. 60  บริเวณ ถนนมะลิวัลย์ – บริเวณริมบึงสีฐาน

วันลอยกระทง เป็นวันสำคัญวันหนึ่งของชาวไทย ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ตามปฏิทินจันทรคติไทย ตามปฏิทินจันทรคติล้านนา มักจะตกอยู่ในราวเดือนพฤศจิกายน ตามปฏิทินสุริยคติ ประเพณีนี้กำหนดขึ้นเพื่อเป็นการสะเดาะเคราะห์และขอขมาต่อพระแม่คงคา บางหลักฐานเชื่อว่าเป็นการบูชารอยพระพุทธบาทที่ริมฝั่งแม่น้ำนัมทามหานที และบางหลักฐานก็ว่าเป็นการบูชาพระอุปคุตอรหันต์หรือพระมหาสาวก สำหรับประเทศไทยประเพณีลอยกระทงได้กำหนดจัดในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ เมื่อเวลาเปลี่ยนไปในสถานที่จัดงานแต่ละที่มักมีการประดิษฐ์กระทงที่สวยงามมีความคิดสร้างสรรค์ จึงสืบมาเป็นการประกวดกระทงจัดขึ้นเป็นขบวนลอยกระทง โดยแทรกสาระความรู้และแง่คิดที่ต้องการสื่อสารไปยังประชาชน และมีกรรมการตัดสินเพื่อธำรงรักษาไว้ซึ่งศิลปะการประดิษฐ์กระทงไทยด้วยวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสืบไป   ประกอบด้วย

  1. ขบวนเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร
    และสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร โดย คณะแพทยศาสตร์
  2. ขบวนสินไซหัวใจลอยกระทง ขอขมาบูชาน้ำ โดย ชุมชนสาวะถี อ.เมือง จ.ขอนแก่น
  3. ขบวนสมมาบูชาน้ำ อารยธรรมถิ่นอีสาน โดย คณะเทคนิคการแพทย์   มหาวิทยาลัยขอนแก่น
  4. ขบวนอนุรักษ์วัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง โดย คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
  5. ขบวนเทว ชเนตตี ธรณี คงคา สมมาวันทา บูชาคุณ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
  6. ขบวนเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร
    โดย คณะบริหาร และการบัญชี
  7. บ่าวสาวไทยโย้ย เทิดไท้องค์ราชา สมมาบูชาน้ำ โดย คณะพยาบาลศาสตร์
  8. ขบวน ฮีตบูชา สมมามหานทีลุ่มน้ำโขง โดย คณะศึกษาศาสตร์
  9. ขบวน มรดกวัฒนธรรม งามล้ำลำนำโขง โดย คณะเภสัชศาสตร์
  10. ขบวน มยุราภิรมย์ ปฐมโคมดอกกระมุทบาน คณะนิติศาสตร์
  11. ขบวน องค์ภูมินทร์ร่วมพิทักษ์รักหัสดีล่องในสายนทีแห่งน้ำพระทัย โดย คณะสัตวแพทยศาสตร์
  12. ขบวน นบบูชากษัตริย์แห่งสายนที ฮ่วมชีวีสมมาบูชาน้ำ โดย คณะสาธารณาสุข
  13. ขบวน สรรพศรัทธา น้อมบูชา มหานที โดย คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์
  14. ขบวน ศรัทธา มหานที โดย คณะเศรษฐศาสตร์

กระทงไฟกลางน้ำ  ( 1-3 พ.ย. 60) บริเวณริมบึงสีฐาน
ประยุกต์มาจาก ประเพณีไหลเรือไฟ เป็นประเพณีของชาวอีสาน ภาษาท้องถิ่นเรียกว่า “เฮือไฟ” จัดขึ้นในช่วงเทศกาลออกพรรษา  แต่ได้นำมาประยุกต์เป็นกระทงไฟกลางน้ำ ซึ่งมีวัตถุประสงค์คล้ายกันคือ มีความเชื่อเกี่ยวโยงสัมพันธ์กับการบูชารอยพระพุทธบาท  การสักการะพกาพรหม การบวงสรวงพระธาตุจุฬามณี  การระลึกถึงพระคุณ ของพระแม่คงคา เช่นกัน

หนังกลางแปลง  1-3 พ.ย. 60 ( 19.00 น. – 22.00 น.)  บริเวณริมบึงสีฐานทิศตะวันออก
ดำเนินการโดยหอภาพยนตร์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยจัดภาพยนตร์ทั้งเก่าและใหม่ มหศพสมโภชตลอดคืน พร้อมบรรยากาศนั่งชมหนังกลางแปลงบนที่นั่งกองฟางกลางลมหนาวสุดโรแมนติก

หมอลำระเบียบวาทศิลป์ 1 พ.ย. 60 ( 19.00 น. – 22.00 น.)  เวทีริมบึงสีฐาน


หมอลำคณะดัง ได้รับความนิยมครองใจมหาชนมาโดยตลอด สามารถนำการศิลปะการแสดงนั้นให้ขึ้นมาทัดเทียมกับศิลปะการแสดงของสากล อย่างน่าภูมิใจ จากเกียรติคุณในการสร้างสรรค์ผลงานสืบทอดศิลปะการแสดงนั้นอย่างต่อเนื่อง และยืนยาว ก่อประโยชน์ต่อสังคมอย่างกว้างขวาง

พิธีเปิดงาน  Sithan KKU Festival 2017  บุญสามมาบูชาน้ำ ประจำปี 2560
(1 พ.ย.60) เวลา 17.00 น. บริเวณ ริมบึงสีฐานฝั่งตะวันตก
นายกสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวเปิด

อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวรายงาน

นายเฉลิมชัย  วงษ์นาคเพ็ชร  กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวต้อนรับ

 

โซนเวทีชลสถาน (บริเวณเวทีกลางแจ้งหอศิลปวัฒนธรรม)

การประกวดฟ้อนลำแคนคอนเทสต์  –  2 พ.ย. 60 (เวลา 18.00 น. -22.00 น.) บริเวณเวทีกลางแจ้งหอศิลปวัฒนธรรม


จัดขึ้นต่อเนื่องเป็นประจำทุกปีโดยปีนี้เป็นครั้งที่ 9 เป็นการประกวดวงโปงลางระดับมัธยมศึกษาทั่วประเทศไทยเพื่อ ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในปีนี้มีแนวคิดเกี่ยวกับ มหกรรมลำพื้น  เพื่อสนับสนุนให้เยาวชนมีพื้นที่แสดงความคิดสร้างสรรค์และช่วยกันทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมไทย

การประกวดดาวรุ่งมอดินแดง  –  1 พ.ย. 60 (เวลา 18.00 น. -22.00 น.) บริเวณเวทีกลางแจ้งหอศิลปวัฒนธรรม


“ดาวรุ่งลูกทุ่งมอดินแดง”ประจำปี 2560 พบกับ 5 ทีมสุดท้ายระดับชาติ ยอดวงดนตรีลูกทุ่ง ถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อสนับสนุนให้เยาวชนมีพื้นที่แสดงความคิดสร้างสรรค์และช่วยกันทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมไทย

นิทรรศการเสด็จฟ้าสถิตไทย   ( 1-3 พ.ย. 60) บริเวณหอศิลปวัฒนธรรม


การแสดงผลงาน ในชื่อเสด็จฟ้า สถิตไทย ณ สถิตในดวงใจ ตราบนิรันดร์ เป็นความตั้งใจจริงของคนขอนแก่น และชาวมหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่จะร่วมกันน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ แด่ในหลวง ร.9 ด้วยการนำภาพวาดจากใจคนขอนแก่น จำนวน 1,299 ภาพ มาจัดแสดงเป็นนิทรรศการภายในชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรม สำนักวัฒนธรรม มข. โดยนับตั้งแต่วันแรกที่พระองค์ทรงขึ้นครองราชย์ จนถึงวันสวรรคต รวมเป็นเวลากว่า 70 ปี  พระราชกรณียกิจของพระองค์ท่านเป็นที่ประจักษ์เด่นชัดในหัวใจของคนไทยทุกคน พระองค์ทรงพระปรีชาชาญในทุกศาสตร์ ทรงทุ่มเทพระวรกายให้แก่งานของชาติบ้านเมือง พระราชจริยวัตรและพระราชกรณียกิจ เป็นต้นแบบให้กับคนไทยทั้งประเทศได้ยึดถือเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิต

ลานวัฒนธรรมย้อนยุค  ( 1-3 พ.ย. 60 ) 17.00 น. – 21.00 น. บริเวณลานวัฒนธรรม
ลานกว้างบริเวณหน้าหอศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น เต็มไปด้วยการละเล่นพื้นบ้าน อย่าง การละเล่นพื้นบ้านของเด็กไทย. งูกินหาง. ขาโถกเถก ม้าก้านกล้วย  เดินกะลา  กระโดดเชือก มอญซ่อนผ้า  กาฟักไข่  ขี่ม้าส่งเมือง มีสินค้าขนมไทยจำหน่ายราคาย่อมเยา  รวมทั้งมีรำวงย้อนยุคให้สนุกสนามตลอดทั้งคืน

ประกวดนางนพมาศ  – 3 พ.ย. 60 (เวลา 18.00 น. -22.00 น.) บริเวณเวทีกลางแจ้งหอศิลปวัฒนธรรม


นางนพมาศ หรือ เรวดีนพมาศ หรือ ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ เป็นสตรีที่ปรากฏอยู่ใน “เรื่องนางนพมาศ หรือ ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์  ที่อ้างอิงว่าถูกรจนาขึ้นตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย มีเนื้อความว่านางนพมาศบอกเล่าถึงความเป็นไปภายในรัฐสุโขทัยว่ามีความเจริญรุ่งเรืองสมบูรณ์พูนสุขนานัปการ ในรัฐมีคนต่างชาติต่างภาษาและศาสนาอาศัยอยู่ร่วมกัน และเรื่องที่เด่นที่สุดคือนางเป็นผู้ประดิษฐ์กระทงขึ้นมา จนนางนพมาศได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของประเพณีลอยกระทง กล่าวกันว่านางนพมาศมีรูปโฉมงดงาม ในยุคหลังเมื่อคราเทศกาลลอยกระทงก็มีการประกวดประขันนางนพมาศสืบมาเพื่อเสริมส่งการท่องเที่ยวในปัจจุบัน ซึ่งในปีนี้แต่ละคณะหน่วยงานได้ส่งสาวงามมาประชันความสวยและความสามารถจำนวนกว่า 27 คน ชิงโล่และเงินรางวัลกว่า 15,000 บาท

การแสดงหนังประโมทัย คณะประกาศสามัคคี  2 พ.ย. 60 (18.00 น. -22.00 น.) บริเวณเวทีด้านข้างหอศิลป์ฯ
หนังประโมทัย หรือหนังตะลุงอีสาน มีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น คือ การนำเอาหมอลำกับหนังตะลุงมาผนวกเข้าด้วยกันโดย หนังประโมทัย คณะประกาศสามัคคี  หรือหนังบักตื้อบ้านแต้  ตำบลธวัชบุรี อำเภอธวัชบุรี จังหวัดร้อยเอ็ด ถือว่าเป็นคณะเก่าแก่มีชื่อเสียงมานาน ทั้งยังมีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องให้เข้ากับยุคสมัย   นับเป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรมที่ตกทอดมาจากบรรพบุรุษ

การแสดงหุ่นกระบอกเพ็ชรหนองเรือ 1 พ.ย. 60 (เวลา 18.00 น. -22.00 น.)บริเวณเวทีด้านข้างหอศิลป์ฯ


หุ่นกระบอกอีสานของคณะนี้มีกลิ่นอายความเป็นอีสานคล้ายคลึงกับหุ่นอีป๊อกของลาว ตรงที่หน้าตาของหุ่น และฝีมือความละเอียดซึ่งมีความสวยงามแบบงานศิลป์พื้นบ้าน  แต่จะมีความแตกต่างจากทั้งหุ่นอีป๊อกของลาวและหุ่นกระบอกไทยตรงที่ หุ่นกระบอกอีสานจะมีส่วนของลำแขนและขาที่ชัดเจน  และการแสดงหุ่นกระบอกอีสานจะเน้นความสนุกสนาน ครึกครื้น มือไม้จึงไม่อ่อนช้อยเฉกเช่นหุ่นกระบอกของไทย หุ่นกระบอกอีสานใช้เรื่องราวในการแสดง รวมถึงดนตรีประกอบ เช่นเดียวกับหุ่นประโมทัย คือใช้หมอลำ มีตัวพระ ตัวนาง ตัวตลก

การแสดงพื้นบ้านหมอลำกลอนประยุกต์ 3 พ.ย. 60 (เวลา 18.00 น. -22.00 น.) บริเวณเวทีด้านข้างหอศิลป์ฯ


โดยสมาคมหมอลำจังหวัดขอนแก่น หมอลำกลอนซิ่งเป็นศิลปะการแสดงของชาวอีสานโดยได้นำเอาศิลปะที่มีมาตั้งแต่เดิมมาดัดแปลงประยุกต์ให้ทันสมัยคือนำเอาหมอลำกลอนซึ่งแต่เดิมนั้นเป็นการลำประกอบ แคนเพียงอย่างเดียวมาประยุกต์เข้าดนตรีชิ้นอื่น ๆ เช่น พิณ เบส และกลองชุด จนได้รับความนิยม ซิ่งในปัจจุบันได้กลายเป็นธุรกิจความความบันเทิงที่ได้รับความนิยม อีกแขนงหนึ่ง ที่ชาวอีสานนิยมจ้างไปเป็นมหรสพสมโภชน์งานที่ได้จัดขึ้นในโอกาสต่าง ๆรูปแบบการแสดง จะเป็นการร้องรำทำนองหมอลำประยุกต์กับเพลงที่สนุก

โซนลานอมฤต (บริเวณถนนสีฐาน-อาคารพุทธศิลป์)

ตักบาตรพระสงฆ์ 65 รูป  ( 1 พ.ย. 60 ) เวลา 6.00 น. -8.30 น.


เพื่อถวายเป็นราชกุศลแด่ในหลวงรัชกาล10 ที่บริเวณหน้าอาคารพุทธศิลป์

พิธีอัญเชิญพระอุปคุต  ( 1 พ.ย. 60)  เวลา 8.30 -10.00 น.


พระอุปคุตเป็นพระที่เป็นที่นิยมนับถือของชาวอินเดีย มอญ และชาวไทย โดยเฉพาะอีสาน สมัยก่อนพระมอญได้นำพระบัวเข็มมาถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในตอนที่พระองค์ผนวชอยู่ แม้แต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ยังทรงกล่าวถึงความเป็นมาในพระราชนิพนธ์พระราชพิธีสิบสองเดือนด้วย
เชื่อกันมาว่า พระอุปคุตมีอิทธิฤทธิ์ปราบท้าววสวัตตี มีเรื่องเล่ามาว่าประมาณปลายพุทธศตวรรษที่ 2 หลังพุทธปรินิพพาน ณ นครปาตลีบุตราชธานี (ปัจจุบันคือเมืองปัตนะ ภาคใต้ของประเทศอินเดีย) พระเจ้าอโศกมหาราช ผู้ครองราชสมบัติในขณะนั้น ทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง ได้ฉลองสมโภชพระสถูปเจดีย์ทั้งหมดที่พระองค์สร้างอย่างยิ่งใหญ่ ตลอด 7 ปี 7 เดือน 7 วัน แต่ถูกพญามารมาผจญ ท่านจึงนิมนต์พระอุปคุตไปปราบพญามารจนยอมแพ้ จากนั้นพระอุปคุตก็มีชื่อเสียงในทางปราบมาร  ปัจจุบันยังมีความเชื่อในหมู่ชาวไทยว่า พระอุปคุตยังมีชีวิตอยู่ ในทุกวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12  ด้วยเหตุนี้จึงเกิดประเพณีแห่พระอุปคุตเพื่อบูชาในประเพณีลอยกระทงด้วยเช่นกัน

ขบวนแห่ขันหมากเบ็งสักการะหลวงพ่อพระศรี 50 ปี มข.  ( 1 พ.ย. 60)  เวลา 16.30 -17.00 น.


ขันหมากเบ็ง หรือ ขันหมากเบญจ์ คือพานพุ่มดอกไม้ที่ใช้เป็นพานพุ่มบูชาในพิธีกรรม และบูชาพระรัตนตรัยในวันอุโบสถ หรือวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา รวมทั้งการนำไปบูชาวิญญาณบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว โดยนำไปวางไว้ตามเสารั้ววัด หรือหลักเส (ธาตุ ทำด้วยไม้แก่น แกะสลักสวยงามเจาะให้เป็นช่องสี่เหลี่ยมขนาดสี่นิ้วฟุต สำหรับบรรจุอัฐิ) ซึ่งนิยมในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา  วันสงกรานต์ และวันลอยกระทงในประเพณีไทย ซึ่งจะมีการแห่ขบวนแห่ขันหมากเบ็ง เพื่อสักการะหลวงพ่อพระศรี 50 ปี มข. เพื่อความเป็นสิริมงคล

 

โซนถนนเนรมิตธารา  ( บริเวณคุ้มสีฐาน)

เสวนาน้ำคือชีวิต  ( 1 พ.ย. 60)  เวลา 13.00 -15.00 น.

         ประเพณีลอยกระทง เป็นพิธีบูชาคุณค่าของสายน้ำ ฉะนั้นจึงมีการจัดเสวนาเรื่องน้ำขึ้นเพื่อทำให้ประชาชนตระหนักถึงการใช้ทรัพยากรน้ำอย่างคุ้มค่าอย่างยั่งยืนตามศาสตร์พระราชา โดยมีหัวข้อการเสวนา ดังนี้ เรื่อง   ทรัพยากรน้ำ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การจัดการน้ำ การพัฒนาอย่างยั่งยืน
โดย ดร.โพยม  สราภิรมย์

เรื่อง น้ำเพื่อสุขภาพ โดย ผศ.สุวดี เอื้ออรัญโชติ

เรื่อง การผลิตน้ำประปา และการบำบัดน้ำเสียในมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดย ผศ.กฤตภัทร ถาปาลบุตร
เรื่อง ปรัชญาความเชื่อเกี่ยวกับน้ำ โดย ผศ.หอมหวล   บัวระกา

ครีเอทีฟ วอล์กกิ้ง สตรีท  1-3 พ.ย. 60 ( 19.00 น. – 22.00 น.)  บริเวณถนนหน้าคุ้มสีฐาน


ถนนสายยาขนาด 800 เมตร ประกอบด้วยผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์ ออกร้านในนามนักศึกษา อาทิ เครื่องปั้นดินเผา ภาพวาด  โคมไฟ ประติมากรรม การแสดงดนตรี  ฯ ตลอดจน สินค้าทำมือประดิษฐ์โดยนักศึกษา มีสินค้าสร้างสรรค์มากมายให้เลือกชม

ลอยกระทงสมมาบูชาน้ำ 1-3 พ.ย. 60 ( 19.00 น. – 22.00 น.)  บริเวณริมบึงสีฐาน


วันลอยกระทง เป็นวันสำคัญวันหนึ่งของชาวไทย ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ตามปฏิทินจันทรคติไทย ตามปฏิทินจันทรคติล้านนา มักจะตกอยู่ในราวเดือนพฤศจิกายน ตามปฏิทินสุริยคติ ประเพณีนี้กำหนดขึ้นเพื่อเป็นการสะเดาะเคราะห์และขอขมาต่อพระแม่คงคา บางหลักฐานเชื่อว่าเป็นการบูชารอยพระพุทธบาทที่ริมฝั่งแม่น้ำนัมทามหานที และบางหลักฐานก็ว่าเป็นการบูชาพระอุปคุตอรหันต์หรือพระมหาสาวก สำหรับประเทศไทยประเพณีลอยกระทงได้กำหนดจัดในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ

       ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าประเพณีลอยกระทงในปัจจุบันมักถูกตีความเป็นสัญลักษณ์ของความโรแมนติก ด้วยความตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว มหาวิทยาลัยขอนแก่นจึง ปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์งานลอยกระทงไทย ให้กลายเป็นงานบุญสมมาบูชา เฉกเช่นแต่โบราณที่เคยสานต่อกันมา ภายใต้ชื่องาน สีฐานเฟสติวัล บุญสมมาบูชาน้ำ   ภายใต้แนวคิด“ไม่หลงของเก่า ไม่เมาของใหม่”  แต่ยังคงรักษารูปแบบเดิมเอาไว้ได้ตามสมควร เพื่อให้เกิดความร่วมสมัย สามารถรักษาวัฒนธรรมดั้งเดิมไว้ได้  โดยที่เยาวชนรุ่นใหม่ให้การยอมรับ และร่วมรักษาเอกลักษณ์ประเพณีดีงามด้วยกันสืบไป

ขบวนแห่ KKU Carnival ( 2 พ.ย. 60)  เวลา 18.00 -19.00 น.


ขบวนรื่นเริงของนักศึกษาที่ได้รับอิทธิพลมาจากตะวันตก  ประกอบด้วยการแต่งกายล้อเลียนผู้นำโลก การแต่งกายแฟนตาซีตามเทพนิยายตะวันตก  ด้วยสีสันสดใส   สาดสีฝุ่น ประกอบการเต้น เข้ากับจังหวะกลอง  เรียงเสียงหัวเราะจากผู้ชมได้มากทีเดียว

(ดาวน์โหลดแบบเอกสารเวิร์ด)

ข้อมูลอื่นๆสามารถดูได้ที่ https://cad.kku.ac.th/?p=898

###

About The Author